หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ภาวะโลกร้อนภาคทฤษฏี 3: โลกร้อน กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


รูปที่ 1: ฝน

กระแสความเชื่อหนึ่งในเรื่องภาวะโลกร้อนคือ การที่ปริมาณก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นทำให้โลกร้อนขึ้นและเพราะร้อนขึ้นฝนก็เลยไม่ตก

แต่
.
.
.
มันจะจริงหรือ

ก่อนหน้านี้ ผมได้ทำโมเดลภาวะโลกร้อนภาคทฤษฏีเรื่องทฤษฏีการถ่ายเทความร้อนมาแล้ว และก็ได้แสดงแล้วว่า ภาวะโลกร้อนมีจริง แต่ ผลกระทบของมันแทบจะไม่เกี่ยวกับการเพิ่มของอุณหภูมิแต่เป็นระดับของพลังงานที่เข้าและออกจากโลกที่สูงขึ้น และถ้ามันจะส่งผลขนาดใหญ่ มันน่าจะส่งผลให้เกิดความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศได้ ในด้านปริมาณ CO2 ที่เกิดขึ้นนั้น ปัญหาไม่น่าจะมาจากการใช้พลังงาน และไม่เกี่ยวกับตดวัวหรือมีเธนอย่างแน่นอน ซึ่งผลกระทบการเพิ่ม ที่เป็นไปได้มากที่สุดคือวงจรทางสิ่งแวดล้อมที่จะพา CO2  กลับลงไปสู่ทะเลบกพร่อง หรือมันก็อาจเป็นเรื่องธรรมชาติล้วนๆ

บทความในครั้งนี้จะต่อยอดโดยเจาะลึกลงไปสองประเด็น ได้แก่
  • การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิทำให้ฝนตกมากขึ้นหรือน้อยลง
  • การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกทำให้เกิดภัยพิบัติมากขึ้นหรือไม่
1. การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิทำให้ฝนตกมากขึ้นหรือน้อยลง 
ในแง่ของฝน ฝนเป็นตัวนำความร้อนออกจากโลก การระเหยของน้ำจากบนโลกไปบนฟ้าจะต้องดึงพลังงานจากพื้นโลกที่อัตรา 2,300 kJ/kg ซึ่งเมื่อกลั่นตัวเป็นละอองน้ำบนเมฆ ความร้อนนั้นส่วนใหญ่ก็ถูกคายไปสู่อวกาศ และบางส่วนก็สะท้อนลงสู่พื้นโลก ถ้าคำนวณดูแล้ว ปริมาณพลังงานที่วงจรฝนนำออกจากพื้นโลก คำนวณตามปริมาณน้ำฝนจะได้ดังต่อไปนี้



ปริมาณ 72.93 W/m2 นี่ก็เป็นการพาพลังงานออกถึงร้อยละ 30% ของพลังงานที่มาจากแสงอาทิตย์ทีเดียว สิ่งนี้ทำให้การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกน้อยกว่าที่โมเดลภาวะโลกร้อนใดๆจะทำนายออกมา ถ้าอุณหภูมิพื้นผิวสูงขึ้น มันก็หมายความว่า น้ำก็จะระเหยมากขึ้น และพอไปถึงข้างบน มันก็เปิดโล่งสู่อวกาศ และพอเสียความร้อนออกไปมันก็กลั่นตัวกลับลงมาเริ่มวงจรวัฏจักรน้ำใหม่ จะเห็นได้ก็จากกราฟข้างล่าง ที่แสดงให้เห็นว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ทำให้ฝนตกมากขึ้น

รูปที่ 2: ความสัมพันธ์ของอุณหภูมิโลกและปริมาณฝน


รูปที่ 2 แสดงให้เห็นว่า การเพิ่มของอุณหภูมิเป็นส่วนทำให้เกิดฝนมากขึ้น แต่ก็ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของฝนนั้นโดยค่าเฉลี่ย 100 ปีที่ผ่านมาก็ไม่มากเลย เพิ่มขึ้นแค่ 2 mm ระดับความผันแปรของปริมาณฝน จะเห็นได้ว่ามันมีการเหลื่อมของคาบกัน พวกกราฟภาวะโลกร้อนนี้มักมีการบิดเบือน Scale ให้สูงน่าสพรึงกลัวกว่าความจริง ดูเทียบได้จากรูปที่ 3 และ 4

รูปที่ 3: การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ ด้วย Scale ตามที่นิยมของกระแสโลกร้อน


รูปที่ 4: การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิตาม Scale นับเริ่มจาก 0 องศา

ทีนี้ถ้าเรามาสังเกตการเกิดฝนตก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดูได้จากรูปที่ 5 สังเกตว่า โทนสีของสองรูปนั้นก็เหมือนๆกัน แต่ มันจะไปตกคนละที่กัน การที่ฝนไม่ตกในที่ๆเคยตก ก็คือสภาพฝนแล้ง และก็เป็นเหตุผลที่คนออกมาโวยวายกันเรื่องภาวะโลกร้อน 

รูปที่ 5: การกระจายตัวของฝนบนพื้นโลก

สรุปถึงตรงนี้ เรื่อง ฝน ผลกระทบของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิมีผลให้เกิดปริมาณฝนมากขึ้น ซึ่งไม่มาก การกล่าวกันเรื่องภาวะฝนแล้ง ถ้าจะเกิดคือเกิดจากด้านความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศ ฝนไปตกที่ที่ๆไม่เคยตก เสียมากกว่า

2. การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกทำให้เกิดภัยพิบัติมากขึ้นหรือไม่
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเกิดอุทกภัยหรือวาตภัยหรือการเกิดเหตุวิกฤติต่างๆ ที่เรารู้สึกว่ามันเพิ่มมากขึ้นเหลือเกิน โลกจะรับไม่ไหวอยู่แล้ว มันอาจเกี่ยวข้องกับการเสพข่าวสารของเรามากกว่าที่มันจะเกิดขึ้นจริงๆ แน่นอน โดยโมเดลภาวะโลกร้อน มันก็บ่งชี้ความเป็นไปได้ว่า การเปลี่ยนแปลงของสมดุลอุณหภูมิโลกอาจทำให้เกิดฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล มีการเกิดของพายุต่างๆ แต่ทว่า ความสัมพันธ์ของการเกิดของภัยธรรมชาติด้านลมและฝน กลับไม่ได้บ่งชี้ชัดว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกทำให้ภัยพิบัติเกิดมากขึ้นจริง ตามข้อมูลชอง American Meteorological Society สัดส่วนภัยพิบัติที่บันทึกนั้นรวบรวมแล้วลุ่มๆดอนๆ แถมมันจะไปในด้านลดลงเสียมากกว่าด้วยซ้ำตรงช่วงหลังปี 2000 
รูปที่ 6: สถิติการเกิดพายุ ตาม American Meteorological Society

แน่นอนว่าข้อมูลเดียวก็อาจไม่แน่ชัด ผู้เขียนจึงไปดึงข้อมูลจากด้าน World Climate Report มันก็แสดงผลคล้ายๆกัน ไม่ว่าจะในรูปที่ 6 หรือ 7 คือ จำนวนพายุที่มีการบันทึกไว้ มันไม่มี Trend ที่บ่งชี้ถึงการเพิ่มของพายุต่อปริมาณ CO2 หรือความร้อนที่เพิ่มขึ้น
รูปที่ 7: สถิติการเกิดพายุอ้างตาม World Climate Report

สิ่งที่เราได้ยินและเชื่อว่ามันมีมากขึ้น มันก็เกิดจากจำนวนข่าว ซึ่งจำนวนข่าวขึ้นอยู่กับทั้งปัจจัยการตรวจวัด และความสนใจของผู้บริโภค การพบเห็นข่าวใดข่าวหนึ่งมาก ไม่ได้หมายความว่าเหตุเกิดมากจริง แต่มันแสดงว่าคนในสังคมสนใจเรื่องอะไรมากกว่า ในการ Scale up เพื่อหาความสัมพันธ์ย้อนไปในอดีต จะต้องคิดถึงปริมาณและความถี่สถานีตรวจวัดมาปรับตัวแปรด้วย 
รูปที่ 8: ตำแหน่งของสถานีตรวจวัดอากาศ

แน่นอน สถิติของการเกิดพายุที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่บอกว่าไม่มีผล (1)บางทีมันอาจมีผลก็เป็นได้ เพราะการ extrapolate ข้อมูลปัจจุบันย้อนไปอดีตมันก็ต้องมี Error บางทีอาจแค่เพราะ Error ของการตรวจวัดนั้นสูงกว่าเลยมองไม่เห็นผลการเพิ่มของการเกิดความแปรปรวน แต่ (2)นั่นก็หมายความว่า ข้อสรุปว่าการเพิ่มขึ้นของ CO2 ที่ส่งผลถึงการเพิ่มความแปรปรวนภูมิอากาศของ IPCC ก็ยิ่งจะเป็นข้อสรุปที่ไม่มีหลักฐานที่เป็นที่ประจักษ์ใดๆเลย

ส่งท้าย
โดยสรุปตรงนี้
  1.  ในแง่ของการเพิ่ม/ลดของฝน: มีข้อบ่งชี้ว่าภาวะโลกร้อนเป็นปัจจัยส่งให้เกิดฝนตกมากขึ้นโดยมีหลักฐานรองรับที่ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2 mm ในรอบ 100 ปี 
  2. ในแง่ความแปรปรวนของภูมิอากาศ: แม้โมเดลจะบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงของ Flux พลังงานที่มีการถ่ายเทมากขึ้น ทว่า กลับไม่มีหลักฐานที่เด่นชัดถึงการเพิ่มขึ้นของภัยธรรมชาติ บางทีที่เรารู้สึกเรื่องภาวะโลกร้อน ทั้งหมดนี้มันอาจจะเป็นการคิดไปเอง เป็นแค่เพราะสื่อมีการโหมประโคมข่าวอุทกภัย วาตภัย มากขึ้น และมีความพยายามที่จะโยงทั้งหมดเข้ากับภาวะโลกร้อนก็เป็นได้

อ้างอิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น