เมื่อพูดถึงราคาน้ำมันในช่วงนี้ เราก็พูดได้แค่ว่า มัน แพง แพง แพง แพง แพ๊ง แพง ซึ่งเราก็จะมีการเรียกร้องการตรึงราคาน้ำมันหรือการช่วยเหลือจากภาครัฐที่สุดท้ายก็มักเป็นแค่ปาหี่หลอกต้มคนดู จากยุคเอากองทุนมาถลุงขายผ้าเอาหน้ารอดจนกองทุนน้ำมันเกลี้ยงโบ๋เบ๋ ปัจจุบันเรามาใหม่ใช้นวัตกรรมแบบย้ายโปะ (จริงๆก็ไม่ใหม่เท่าไร) เอาเงินน้ำมันชนิดหนึ่งไปโปะชนิดหนึ่ง เอา เบนซิน 95 ไปโปะ แก๊สโซฮอล์ พอแพงฉุดไม่อยู่ ก็ออก E20 แล้วเอา แก๊สโซฮอล์ไปโปะ E10 สักวันหนึ่งก็คงจะเอา E20 ไปโปะ E85 โปะกันไป โปะกันมา จนกว่าเราจะยอมรับว่า ราคาพลังงานต่อให้ไม่โกงไม่นู่นไม่นี่มันก็ยังแพงอยู่ดี
พลังงานสำรองของประเทศไทย
จากตัวเลขของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ EPPO [1] เมื่อเรามองย้อนไปในตัวเลขของปี 2006 เทียบกับปี 2009 เราจะพบว่าตัวเลข Reserve เรามีการลดลงยกเว้นในส่วนของก๊าซธรรมชาติ ที่มีการค้นพบแหล่งก๊าซใหม่ๆในประเทศมาทดแทนปริมาณที่ลดลง ในภาพรวม Reserve ที่ยืนยันมีอยู่ P1 ลดลงจาก [b]737 MTOE[/b] (ล้านตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) เหลือ [b]667 MTOE[/b] ใน 3 ปี ในขณะเดียวกัน ตัวเลขการผลิตหรือการเอาพลังงานมาใช้ มันก็เพิ่มขึ้นถึง 55% การนำใช้ที่เพิ่มขึ้นตรงนี้ไม่ใช่อัตราการเติบโตการใช้พลังงานของประเทศไทยโดยตรง แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนการนำเข้าต่อการขุดใช้เอง เพื่อให้ราคาเชื้อเพลิง และราคาไฟฟ้ามีราคาถูก เราจะได้ใช้มันอย่างสุรุ่ยสุร่ายต่อไปอย่างสบายใจ สำหรับตัวเลขช่อง P1 คือปริมาณสำรองที่ยืนยันว่ามี ส่วน P2 และ P3 คือความน่าจะเป็นที่จะมี และอาจสามารถนำใช้ได้ ตารางนี้ผิดนิดนึงเพราะ ลิกไนต์ไม่มีตัวเลข Possible reserve จำนวนรวมเลยผิดไปนิด ก็ลองกดเครื่องคิดเลขดูกันใหม่ก็แล้วกัน อย่าง P1+P2 ถ้ารวมลิกไนต์ ก็อาจมีปริมาณพลังงานสำรองอยู่ได้แถวๆ 1,100 MTOE
ปริมาณการ Reserve ที่เขียนในช่อง Available for use (YEAR) ตามตารางที่ 2 เป็นการเอาจำนวน Reserve ที่ยังเหลือ หารด้วยจำนวนที่ใช้ของเชื้อเพลิงนั้นๆ ไม่ใช่ภาพรวมของพลังงานทั้งหมด พลังงาน นับจากวันที่เราบอกว่าเรามีก๊าซธรรมชาติใช้ได้อีก 60 ปี ปัจจุบัน ปี 2011 เราบอกว่า เราเหลือใช้ได้อีก 10-12 ปี แล้วก็ลดลงไปเรื่อยๆ ถ้าดูจาก[b]กราฟที่ 1[/b] จะเห็นปริมาณนำใช้ NG ที่สูงขึ้นเป็นอย่างมาก
การนำเข้าและขุดใช้เอง ดูจาก[b]กราฟที่ 2[/b] ก็ประมาณว่า เราผลิตครึ่ง นำเข้าครึ่ง และนับวันก็จะผลิตและขุดออกมาใช้ มากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าว่ากันโดยคร่าวๆ ที่อัตราการใช้เกือบ 2 ล้านบาร์เรลต่อวันนี้ ก็คือ 95 ล้านตันน้ำมันดิบต่อปี ในขณะที่เรามีพลังงานสำรองยืนยันอยู่แค่ 667 ล้านตัน ถ้าไม่นำเข้าเราจะใช้หมดใน 7 ปี
พลังงานสำรองของโลก
ในช่วงปี 2009 โลกเรามีการใช้พลังงานน้อยลง โดยเป็นผลจากปัญหาทางเศรษฐกิจถดถอย กลุ่มประเทศที่มีการขยายตัวของการใช้พลังงานคือกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่เช่นอินเดียและจีน ส่วนการใช้พลังงานในกลุ่มประเทศ OECD อยู่ในสภาพคงที่ถึงน้อยลง ซึ่งสะท้อนจากตัวเลขการใช้น้ำมันของโลกใน กราฟที่ 3
ตัวเลขพลังงานสำรอง อ้างอิงจากบริษัท BP [2] พบว่า ปริมาณน้ำมันสำรองที่มีการพิสูจน์ทราบนั้น มีการค้นพบเพิ่มขึ้นในส่วน ก๊าซธรรมชาติ พลังงานสำรองที่พิสูจน์ทราบที่พบนี้ นับตามสภาพการใช้งานแล้ว ก๊าซธรรมชาติจะเป็นพลังงานที่หมดลงเป็นอันดับแรก พลังงานหมุนเวียนที่มีนัยสำคัญคือพลังงานน้ำ ซึ่งก็มีปริมาณนำใช้ได้ต่อปีที่จำกัด เพราะปริมาณน้ำฝนที่ตกลงบนโลกนั้นคงที่ แม้จะมีการเพิ่มขึ้นจากภาวะโลกร้อนบ้าง แต่ก็เป็นปริมาณที่เล็กน้อยเป็นอย่างยิ่ง [3] ถ้าไม่มีการค้นพบใหม่ขึ้นมา หรือถ้าการพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์ไม่มีมากไปกว่านี้ ปริมาณสำรองของโลกก็จะมีใช้ได้อีกแค่ 76 ปี
พลังงานนิวเคลียร์ สิ่งที่ยังต้องพัฒนากันต่อ
พลังงานนิวเคลียร์ นั้น ณ ตอนนี้ เรามีใช้งานได้คือนิวเคลียร์แบบฟิชชั่น ซึ่งเป็นการแตกตัวของอะตอมธาตุกัมมันตรังสี การใช้งานของยูเรเนียมในปัจจุบัน ซึ่งมีการค้นพบอยู่ที่ 4.7 ล้านตัน [4] สามารถเทียบเป็นพน้ำมันดิบได้เพียง 133,333 MTOE ซึ่งอาจนำใช้ได้แค่ในหลักสิบปี ดังตารางที่ 3 แต่ยังมียูเรเนียมปะปนอยู่กับน้ำทะเลอีก 35 ล้านตัน ซึ่งถ้าเรานำมาใช้ได้ทั้งหมด เราก็อาจมีพลังงานใช้ได้อีกเป็นร้อยปีทั้งโลก ซึ่งไม่ได้ยาวนานอะไรเลย แต่นั่นหมายถึงการใช้งานด้วยเตาปฏิกรณ์แบบปัจจุบัน
เตาปฏิกรณ์ที่เราใช้อยู่ ณ ปัจจุบัน ใช้เฉพาะ Uranium 235 ซึ่งในแท่งเชื้อเพลิงจะมี Uranium 238 อยู่อีก 90% ที่ไม่ได้ถูกใช้ แนวทางการทำให้เชื้อเพลิง ณ ปัจจุบันใช้ได้มากขึ้นได้แก่ การใช้ Thorium Fuel Cycle[5] หรือ Thermal Breeder Reactor ซึ่งเป็นการเอา Thorium เข้ามารับนิวตรอนจากการแตกตัวของยูเรเนียมเกิดเป็น Uranium 233 ที่สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้
ในอีกแนวทางหนึ่ง ก็ได้แก่การใช้ตัวยูเรเนียม 238 เป็นตัวรับนิวตรอนกลายเป็นไอโซโทปของพลูโตเนียม Pu239, Pu240 หรือ Pu242 เพื่อทำปฏิกิริยาต่อ ตัว Fast Breeder Reactor จะอาศัย Plutonium เป็นตัวตั้งต้นเล็กน้อย ก่อนจะเดินต่อโดยใช้เพียงเชื้อเพลิงยูเรเนียม ซึ่งทั้งสองวิธีนี้ อาจสามารถทำให้ตัวเลขพลังงานที่ได้จากยูเรเนียมจำนวน 35 ล้านตันขยายใช้ได้เทียบเท่า น้ำมันดิบ 66 ล้านล้านตันดังตารางที่ 4 แต่ทั้งนี้ นี่ก็ยังเป็นเรื่องของอนาคตอยู่ดี
สำหรับประเทศของเรา ที่คนยังซึนเดเระเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ เราคงยังไม่ต้องกังวลไปถึงสถานการณ์พลังงานโลกว่าเราจะพัฒนา Breeding Reactor ทันไหม คนไทยเรายังมองไม่เห็นด้วยซ้ำว่าด้วยขีดจำกัดพลังงานสำรองของเรามันวิกฤติอย่างไร เราขุดเอาพลังงานทดแทนมาใช้เพื่อลดค่าใช้จ่าย เพื่อให้เศรษฐกิจมันพอไปได้ แต่ยิ่งเราเอามาใช้แบบสุรุ่ยสุร่าย ไม่เตรียมพร้อมสำหรับอนาคตเท่าไร อนาคตที่จะวิกฤติก็ยิ่งวิกฤติมากขึ้น
เราฝันถึงพลังงานหมุนเวียน แต่พลังงานหมุนเวียนนั้นก็ต้องใช้เวลาในการพัฒนาขึ้นมา การใช้พลังงานหมุนเวียนนอกจากพลังงานน้ำ (ไม่นับการ import) ตัวเลขรวมก็อยู่แค่ 660 kTOE คนไทยเราดูเหมือนจะมองข้ามจากจุด A ไปจุด Z โดยไม่คำนึงถึงกลไกการเปลี่ยนถ่ายเสมอ จะมีพลังงานหมุนเวียน ก็ต้องมีการใช้เวลาในการพัฒนา ปัจจุบัน เรามีการพูดถึงพลังงานชีวมวล แต่โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลของเราก็โดนต่อต้านในแง่มุมมลพิษ และยังมีปัญหาเรื่องวัสดุทางการเกษตรที่อยู่กระจัดกระจายเนื่องจากเราไม่ได้มีการวางแผนจัดโซนการเกษตร การรวบรวมวัสดุเหลือใช้เหล่านี้มาเป็นพลังงานก็นับว่าค่อนข้างด้อยประสิทธิภาพมาก ในด้านโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ตัวมันเองก็ต้องมีการ Subsidized จากภาครัฐที่เราเรียกว่าให้ Adder การต้อง Subsidized ก็คือการเอาเงินกระเป๋าซ้ายไปโปะกระเป๋าขวา ในความเป็นจริงมันก็ไม่ต่างจากกรณีราคาน้ำมัน E20 ที่กล่าวถึงข้างต้น เราก็ยังจ่ายแพงแบบไม่คุ้มอยู่นั่นเอง
สิ่งสำคัญ แม้เราจะผลักดันจนมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งจะยืดความมั่นคงทางพลังงานให้ไกลออกไปได้บ้าง เราก็ยังต้องพัฒนาพลังงานหมุนเวียนขึ้นมาอยู่ดี
อ้างอิง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น