หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

ชำแหละความเชื่อ: น้ำหนักของวิญญาณคนตาย

บอกกล่าว: เพื่อป้องกันความสับสน “วิญญาณ” ในที่นี้ ให้หมายถึง “Soul” และเป็นคนละอย่างกับ วิญญาณขันธ์ ตามศาสนาพุทธนะครับ

ผู้เขียนได้รับรู้เรื่องน้ำหนักของวิญญาณคนตายจาก Status เพื่อนใน Facebook ว่ามีบทความอ้างการทดลองทางวิทยาศาสตร์วัดน้ำหนักวิญญาณคนตายได้ 21 กรัม เรื่องราวของน้ำหนักวิญญาณคนตายมีกล่าวอ้างในหนังสือความรู้รอบตัวและบทความต่างๆอยู่หลายครั้ง ผู้เขียนเองก็ยังแปลกใจว่าน้ำหนักของวิญญาณถ้ามันวัดมาได้ก็แสดงว่าวิญญาณควรเป็นสสารไม่ใช่พลังงาน และการตรวจจับวิญญาณควรเป็นเรื่องง่ายๆมาแต่ไหนแต่ไรและเราควรได้ใช้ประโยชน์จากการศึกษาอนุภาควิญญาณกันแล้ว แต่มันก็ไม่มีปรากฏ ดังนั้นเรามาถือโอกาสชำแหละมันเสียดีกว่าว่าเรื่องราวมันเป็นอย่างไรมาอย่างไร

ความเชื่อเรื่องน้ำหนักของวิญญาณนี้ มาจากบทความของ ดร ดันแคน แมคดูกัล (1866-1920)[1] นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ซึ่งได้พยายามวัดน้ำหนักส่วนต่างของมนุษย์ที่มีชีวิต และเสียชีวิตไป โดยได้ทำการทดลองในปี 1901ซึ่งได้ข้อสรุปการทดลองว่า น้ำหนักที่หายไปคือ 21 กรัมเมื่อคนเรานั้นตายลง แต่ทั้งนี้  การทดลองของ ดร แมคดูกัลเป็นการวัดน้ำหนักคนตายในระบบเปิด โดยเขาใช้ตาชั่งแบบอุตสาหกรรม แล้วเอาเตียงคนไข้ไปวางตรงเหนือตาชั่ง  ตาชั่งนี้ใช้การถ่วงน้ำหนัก Balance ออกมา คนไข้ที่เขาใช้เป็นคนไข้วัณโรคซึ่งการทำนายการตายสามารถบ่งชี้ได้ในหลักชั่วโมง การควบคุมการสูญเสียของน้ำหนักจากการระเหย และหายใจออกนั้น ดร แมคดูกัลใช้วิธีวัดปริมาณน้ำหนักที่หายไป ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 1 ออนซ์ หรือ 28 กรัมทุกชั่วโมง และเขาบ่งชี้ว่า เมื่อตอนตาย น้ำหนักของ Weight Scale ลดลง “ทันที” ดังนั้นการสูญเสียมวลน้ำหนักจากการระเหยของน้ำจึงได้มีการคิดไว้แล้ว และความสามารถในการอ่านของตาชั่งคือ 1/20 ของหน่วยออนซ์ หรือ ± 1.4กรัม

วิธีการบ่งชี้ว่าน้ำหนักหายไป ดร. แมคดูกัลดูจากน้ำหนักที่ต้องเลื่อนหรือถ่วงเพิ่ม ตัวตาชั่งที่ ดร แมคดูกัลใช้ ก็จะคล้ายๆแบบนี้ 
ประเด็นเจ้าปัญหาก็คือ น้ำหนักที่ว่านั้น เป็นน้ำหนักเฉลี่ย และ ผลการทดลองของ ดร แมคดูกัล มีช่วงน้ำหนักที่วัดได้คือระหว่าง 45.8 – 10.6 กรัม มันไม่ใช่ 21 กรัมพอดีเป๊ะ อย่างที่มีกล่าวในบทความต่างๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ นอกเหนือจากนี้ การทดลองมีการชั่งตัวอย่าง 6 ครั้ง และทิ้งผลการวิจัยไป 2 ตัวอย่างเพราะ ปรับตาชั่งไม่ทันเวลาตาย กับมีปัญหาปรับตาชั่งไม่ดี ดังนั้น ข้อสรุปน้ำหนักวิญญาณ 21 กรัมที่มีในปัจจุบันจึงตั้งอยู่บนผลการทดลองเพียง 4 ตัวอย่าง และมีค่าการ Error มากกว่า ±100%


ผลการทดลองของ ดร. แมคดูกัลนั้นหยาบมาก มันอาจบ่งชี้ได้แค่ว่า มันมีน้ำหนักหายไปประมาณ 10-45 กรัม แต่ไม่ใช่ระดับที่จะสรุปได้ถึงการมีอยู่ของวิญญาณเลย แม้แต่ในบทความของ ดร. แมคดูกัล ก็ยังบ่งชี้ไว้ว่าผลการทดลองนี้ สรุปได้แค่ว่ามีมวลหายไป และมันไม่อยู่ในสารบบที่เรารู้ นอกจากนี้ ยังต้องมีตัวอย่างมากกว่านี้ที่จะใช้เพื่อสรุปอะไร ซึ่งก็มิได้มีการทำการทดลองอะไรต่อหลังจากนั้น เพราะข้อจำกัดว่าการทดลองนี้ต้องทำกับ “มนุษย์” เพราะตามความเชื่อของคริสต์ และ อิสลาม “วิญญาณ” มีเฉพาะในมนุษย์ ไม่มีในสัตว์ และ ดร แมคดูกัลได้ทำการทดลองกับสุนัขและบ่งชี้ว่าไม่พบการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนัก

ทั้งนี้ สุนัขกับมนุษย์มีข้อต่างที่สำคัญคือ มนุษย์ควบคุมอุณหภูมิในร่างกายด้วยการขับเหงื่อ แต่สุนัขใช้วิธีหอบ ให้น้ำระเหยออกทางปากได้อย่างเดียว และอาจรวมถึงการที่สุนัขตายด้วยการวางยา แต่มนุษย์เป็นการป่วยตายด้วย

แต่ถึงผลการทดลองจะดูน่ากังขาอย่างไร มันก็ยังไม่มีการทดลองเพื่อพิสูจน์ข้อผิดพลาดของ ดร แมคดูกัลออกมา ว่าน้ำหนักมันลดลงด้วยปัจจัยใด ในข้อสันนิฐานความผิดพลาดที่มีกล่าวกันโดยกว้างขวาง ได้แก่วินาทีที่ตาย ซึ่ง ดร แมคดูกัลไม่สามารถบ่งชี้ได้ชัดเจน (โดยอาจผิดพลาดได้กว่า 10 นาที) การสั่นสะเทือนแบบ Resornance จากการเต้นของหัวใจอาจทำให้ตาชั่งบ่งชี้น้ำหนักเบากว่าที่เป็นขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ และยังมีข้อสันนิฐานเรื่องการที่อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้นช่วงสั้นๆเพราะระบบเลือดหยุดทำงานไม่มีการระบายความร้อน ซึ่งก็ได้มีผู้ทำการทดสอบสมมุติฐานตาม [2] และก็พบว่าความน่าจะเป็นต่างๆนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อน้ำหนักได้ถึงขนาดนั้น และนอกจากนี้ก็ยังมีผลการทดลองที่น่าสนใจของกรณีการวัดน้ำหนักของแกะที่พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักหลังการตายเป็นช่วงสั้นๆ[3]

อันที่จริงมนุษย์เราก็ยังไม่รู้เกี่ยวกับกลไกทางชีวภาพของตัวเราเองสักเท่าไร บางที น้ำหนัก อาจหายจริง และมันอาจเป็นข้อสังเกตที่บ่งชี้ถึงกลไกการทำงานของร่างกายมนุษย์ที่มีความแตกต่างจากสัตว์ แต่น่าเสียดาย เรื่องน้ำหนักที่หายไปนี้ กลายเป็นแค่ข้อถกเถียงว่า วิญญาณมีจริงหรือไม่ แทนที่จะมาหาคำตอบว่า กลไกการหายไปของน้ำหนัก เกิดจากอะไร เครื่องมือวัด หรือการหยุดลงของกลไกใดๆของร่างกายเราที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักได้

อ้างอิง




แนะนำให้อ่านต่อ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น