หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555

ทรัพยากรน้ำของโลก

บทความนี้ เขียนช่วงสงกรานต์ แต่ผมไม่ได้จะบอกว่าเราอย่าไปสาดน้ำเล่นกันเลยเสียดายน้ำหรอกครับ เพราะไอ้น้ำที่เราเล่นๆกันช่วงสงกรานต์มันก็ไม่ได้สักเท่าไหร่ เพียงข้าวหนึ่งมือของเราก็มีการใช้ทรัพยากรน้ำไปหลายร้อยลิตรแล้ว สิ่งที่ผมเขียนในบทความนี้ หวังจะให้เราได้ตระหนักถึงปริมาณทรัพยากรน้ำที่เราใช้ แต่มองไม่เห็นครับ

โลกเรามีน้ำอยู่ทั้งสิ้น 14,000 ล้านลูกบากศ์กิโลเมตร แต่ส่วนใหญ่เป็นน้ำเค็ม น้ำจืดที่อยู่บนโลกนั้น บางส่วนก็เป็นน้ำแข็งที่ขั้วโลกซึ่งเรานำมาใช้ไม่ได้ บางส่วน ไปตกอยู่ในป่าเขาซึ่งอยู่นอกขอบเขตที่มนุษย์จะเข้าถึง ปริมาณน้ำจืดที่มนุษย์จะใช้ได้ มีอยู่เพียง 0.001% ของปริมาณน้ำที่อยู่บนโลกนี้เท่านั้น

รูปที่ 1: สัดส่วนทรัพยากรน้ำของโลกที่มี และที่มนุษย์ใช้ได้

การใช้ทรัพยากรน้ำ: การใช้โดยตรง
น้ำจืด เกิดจากน้ำทะเล และน้ำบนผิวดินที่ระเหยขึ้นและกลั่นตัวลงมา โดยธรรมชาติแล้ว จึงบอกได้ว่า น้ำที่นำใช้ได้นี้ไม่มีวันหมดไป แต่น้ำที่มนุษย์สามารถนำใช้ได้นี้ มันมีปริมาณจำกัดอยู่ในแต่ละปี
โดยเฉลี่ยแล้ว มนุษย์เราใช้น้ำสะอาดในการกินการอาบและใช้ในชีวิตประจำวันอยู่ที่ประมาณปีละ 20 – 30 ลูกบากศ์เมตร การใช้น้ำตรงนี้อาจมีมากน้อยตามข้อจำกัดของแต่ละพื้นที่ [1]

ตารางที่ 1: สัดส่วนการใช้ทรัพยากรน้ำโดยตรงต่อหัวประชากร


การใช้ทรัพยากรน้ำ: โครงสร้างการใช้น้ำของมนุษย์
การใช้น้ำของมนุษย์เรานั้น เราใช้ดื่ม เราใช้ปรุงอาหาร ใช้อาบทำความสะอาด ใช้ซักเสื้อผ้า ล้างทำความสะอาดบ้าน และใช้รดสวนเล็กๆน้อยๆ ความต้องการขั้นต่ำที่ทาง WHOประเมินออกมาจะอยู่ที่ 70 L ต่อคนต่อวันหรือ 25 ลบมต่อคนต่อปี แต่ตรงนี้ เรา ยังไม่รวมถึงการบริโภคทางอ้อม เช่นการใช้น้ำในภาคการเกษตร หรือ การใช้ในภาคอุตสาหกรรม [2]

รูปที่ 2: สัดส่วนการใช้ทรัพยากรน้ำ ตามลำดับความสำคัญ ต่อหัวประชากร

การใช้ทรัพยากรน้ำ: การใช้ทรัพยากรน้ำทางอ้อม
การใช้น้ำทางอ้อมเหล่านี้ เมื่อเทียบแล้ว จะอยู่ที่ 90% ของการใช้น้ำของประเทศไทย ถ้าเราจะลองคำนวณดูง่ายๆ น้ำในเขื่อนของประเทศไทยมีรวมๆกันอยู่ 35,000 ล้าน ลบม และเราใช้หมดใน 1 ปี เฉลี่ยตัวเลขออกมา นับที่ประชากร 60 ล้านคน การใช้น้ำของไทยเราก็จะอยู่ที่ 577 ลบม ต่อคนต่อปีเป็นอย่างน้อย แน่นอนตัวเลขนี้ยังไม่รวมถึงการใช้น้ำบาดาล หรือการเก็บกักน้ำจากฝายชุมชน ในระดับโลก ประเมินว่า การใช้น้ำทางอ้อมนี้มากกว่าการใช้ทางตรงถึง 10 เท่า และส่วนใหญ่จะเป็นการใช้งานในภาคการเกษตร 

รูปที่ 3: สัดส่วนการใช้ทรัพยากรน้ำทางตรง (Domestic) เทียบกับทางอ้อม

การใช้ทรัพยากรน้ำ: น้ำที่แฝงอยู่ในผลิตภัณฑ์
ในรายละเอียดการใช้น้ำ  ของภาคการเกษตร เราอาจตกใจที่จะต้องรู้ว่า ข้าวที่เรากินนั้น มีการใช้น้ำถึง 1,500 ลิตรต่อกิโลกรัมข้าวเลยทีเดียว และยิ่งถ้าเป็นเนื้อสัตว์ ตัวเลขก็จะยิ่งสูงเพราะปริมาณของอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ก็มีน้ำปริมาณหนึ่งที่ต้องใช้ในการเพาะปลูกขึ้นมาเช่นกัน
รูปที่ 4: ปริมาณน้ำแฝงในผลิตภัณฑ์


การใช้ทรัพยากรน้ำ: ภาพรวมการใช้น้ำของโลก[3]
เมื่อรวมทุกทางเข้าด้วยกันแล้ว ปริมาณการใช้น้ำก็จะเป็นดังข้างล่าง ปริมาณการใช้น้ำของประเทศไทย อยู่ที่ประมาณ 500 ลบม ต่อหัว ซึ่งประเทศไทยเราก็จัดเป็นประเทศที่มีการใช้ทรัพยากรน้ำมากเป็นพิเศษ เพราะภาคการเกษตรของเรามีไว้เพื่อการส่งออกด้วย
ประเทศต่างๆในโลก ไม่ใช่ว่าจะมีทรัพยาการน้ำอุดมสมบูรณ์เสมอเหมือนกัน ในบางพื้นที่ของโลก ปริมาณน้ำจืดที่มนุษย์เข้าถึงอาจมีจำกัดจน ต้องพึ่งพาทรัพยากรที่ได้จากประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรน้ำที่มากกว่า และนี่ก็คือลักษณะของสิ่งที่เรียกว่าปริมาณน้ำแฝงของการส่งออก ทั้งนี้ การใช้น้ำสูงสุดที่เป็นไปได้ ก็จะต้องไม่เกินจากปริมาณทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ในแต่ละปี และน้ำก็เป็นข้อจำกัดที่สำคัญของเศรษฐกิจการส่งออกสินค้าเกษตร นอกเหนือไปจากข้อจำกัดพื้นที่ นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่การใช้น้ำ จะต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพการใช้งานด้วย 

รูปที่ 5: แผนที่แสดงการใช้ทรัพยากรน้ำทั้งหมดต่อหัวประชากร

ประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรน้ำ 
เมื่อน้ำ มีปริมาณจำกัด ประสิทธิภาพการใช้น้ำก็ย่อมเป็นเรื่องสำคัญในการขยายขอบเขตทางเศรษฐกิจ ในแง่ของการเก็บกักน้ำเพื่อการใช้งาน ประเทศกำลังพัฒนาอย่าง ไทย ฟิลิปินส์ อินเดีย ปากีสถาน หรือ เมกซิโกอาจอยู่แค่ 25 – 40% ไปจนถึง 40-45% ในมาเลเซียหรือโมรอคโค ประสิทธิภาพตรงนี้ ถ้าเทียบกับ ไต้หวัน อิสราเอล หรือญี่ปุ่นที่มีการกักเก็บน้ำได้ถึง 50-60% แล้วก็ยังเห็นว่าน่าจะพัฒนาขึ้นอีกมาก [1] และถ้าเทียบกับกิจกรรมการใช้น้ำต่อการตอบแทน ซึ่ง ภาคการเกษตรสร้างรายได้เพียง 12% ต่อปี และภาคอุตสาหกรรมคือ 44% [4] โครงสร้างดังกล่าวมีการผกผันกับปริมาณการใช้ทรัพยากรของประเทศเราอย่างรุนแรงทีเดียว

สุดท้ายนี้ ผมหวังว่าว่าพวกเราจะได้ตระหนักข้อเท็จจริงเรื่องปริมาณทรัพยากรน้ำที่เรามีอยู่จำกัด ได้ตระหนักถึงมูลค่าแฝงของมันที่นำมาสู่ผลผลิตต่างๆที่เราส่งออก กลายมาเป็น GDP ของพวกเรา ถ้าเรามองได้ตลอดห่วงโซ่อุปทานของน้ำ การบริโภคข้าวอย่างพอประมาณ และการใช้งานอุปกรณ์อิเลคโทรนิคอย่างทนุถนอม ก็ย่อมเป็นหนทางหนึ่งของการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำเช่นกัน ไม่ใช่แค่การปิดก๊อก และไม่ทิ้งขยะมูลฝอยลงลำธาร

อ้างอิง

1 ความคิดเห็น:

  1. ตัวเลขที่ประมาณกันจริงๆ ของน้ำผิวโลกเฉพาะมหาสมุทรคือ 1,332 ล้านkm3 โลกมีพื้นที่ 510 ล้านkm2 ถ้าแผ่พื้นดินให้เท่ากันหมด น้ำจะท่วมแผ่นดินได้ลึกประมาณ 2.7km ที่ว่าโลกมีน้ำ 14,000 ล้านkm3 นั้น ศูนย์เกินนะครับ มันจะกลายเป็นโลกวันพีชไป

    ตอบลบ