การอ้างอิง เป็นเรื่องสำคัญทางวิชาการ ทุกสิ่งที่เรากล่าว ต้องมีหลักฐานชัดเจน ความสำคัญของการอ้างอิง อ้างอิง มีไว้ เพื่อให้ผู้อ่านหรือผู้ที่มาศึกษาค้นคว้าสามารถตรวจสอบหรือติดตามศึกษาเพิ่มเติมได้ อ้างอิง เป็นมารยาทที่จะให้เกียรติแก่ผู้แต่งสารนิเทศที่ใช้อ้างอิง ถือเป็นมารยาททางวิชาการที่ไม่ควรละเลย การมีอ้างอิง จึงเป็นการยืนยัน ความบริสุทธิ์ใจในการสื่อสารออกมาเป็นบทความ
แต่ไหนแต่ไร ผมเคยคิดว่า การมั่ว ที่เลวร้ายที่สุดไม่น่าจะมีอะไรมั่วได้มากกว่าในวงการเมือง ที่มีการตัดข้อความมาดัดแปลง มีการแกล้งนัวยกตัวเลขมาโดยไม่แปลงหน่วย (อย่างกรณี ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตน้ำมันที่โด่งดัง) แต่ เมื่อมันมีอะไรที่เลวร้ายไปแล้ว มันก็ย่อมมีสิ่งที่เลวร้ายได้ยิ่งกว่า เพราะ เนื่องจากช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมได้เข้าไปตบตีกับเกรียน ใน FB เรื่องเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งถกไปถกมาเกรียนก็ยก Reference เป็นบทความที่เกรียนท่านนี้เขียนมาเยอะแยะ มันก็ไม่ควรจะมีปัญหาอะไร การยกอ้างอิงมันเป็นธรรมชาติของการถกเถียงทางวิชาการ ทว่า การใช้อ้างอิงของเกรียนผู้นี้ มันทำให้ผมตกตะลึงพรึงเพริด ผมไม่เคยคิดมาก่อนว่า การศึกษาไทย เราจะมีปัญหาในการใช้อ้างอิงขนาดนี้
เรามาดูความมั่วซั่วไปด้วยกัน ที่นี่ ครับ
จากในเวบของเกรียนผู้นี้ คุณจะเห็นการใช้อ้างอิง เช่น {1} ก็คือ สามารถตามไปอ่านได้ที่ Section อ้างอิง ลิงค์ {1}
แต่เมื่อกดเข้าไปดูเนื้อหาในอ้างอิงในแต่ละส่วน ผมได้พบ เห็นเหตุการณ์อย่างนี้
จากอ้างอิงในลิงก์ {1} เกรียน ได้เขียนไว้ว่า พื้นที่ก่อสร้างเขื่อนเป็นป่าปลูกใหม่ จากการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม เมื่อคุณกดเข้าไป คุณจะพบว่า ในลิงค์ บ่งชี้เรื่องการฟื้นฟูป่า และฟื้นฟูประชากรเสือในภาพกว้าง มีไม้หนุ่มเข้าเสริม และไม้ใหญ่ขนาด BDH 30 จนถึงหลัก 100 ซม ก็มีอยู่ในพื้นที่ ตาม อ้างอิง ลิงก์ {2} ก็ได้ระบุไว้ชัดเจนว่ามันเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ แถมยิ่งตัวอ้างอิงในลิงค์ {5} และ {6} กลับเป็นหลักฐานที่แน่นหนาว่า ไม้ปลูกใหม่ อายุ 10 ปี BDH ได้อย่างมากก็แค่ 20 ซม และจะไม่สามารถทำให้พื้นที่อ่าง กลายเป็นพื้นที่ป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังไปได้ ซึ่งเป็นข้อแย้งของตัวบทความที่เขียนว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าเสื่อมโทรมในตัวมันเอง
สำหรับอ้างอิง {2} คุณสามารถหา Download รายงานตัวเต็มของเขื่อนแม่วงก์ได้ที่นี่
ในช่วงต่อมา เมื่อพูดถึงขนาดไม้ในพื้นที่อ้าง ในอ้างอิงที่ {5} และ {6} ที่เป็นอ้างอิงของขนาดไม้ในพื้นที่ ซึ่งอ้างว่า พื้นที่อ่างรับน้ำ ของแม่วงก์ เป็นป่าเสื่อมโทรม เพราะ มีแค่ กระถินเทพา DBH 15.8 ซม หนามพัน 18.1 ซม และขนาดไม้สัก เส้นผ่านศูนย์กลางระดับอกที่ 10.5 ซม
ทว่า เมื่อกดเข้าไปดูที่นี่
คุณจะพบว่า
ในอ้างอิงเป็นการศึกษาที่ อุทยานแห่งชาติ แก่งกระจาน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรเลยกับอุทยานแห่งชาติแม่วงก์มาอ้าง
ในอ้างอิงที่ 6 ที่ระบุขนาดของไม้เช่นกัน พอกดเข้าไป คุณจะพบ Presentation การจัดทำสวนป่าไม้สักของ ออป ซึ่งก็ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการสำรวจพื้นที่ป่าแม่วงก์ตรงที่ทำเขื่อนแม้แต่นิดเดียว
ดูท่าผมจะเจอดีเข้าแล้ว
... หรือว่ามันกะอ้างอิงแค่ว่าไม้ขนาดนี้มีอายุได้กี่ปี ... แล้วขนาดไม้ในเขื่อนแม่วงก์ล่ะ มันอยู่ๆลอยมาเรอะ ห๊ะ
เมื่อลองเป้าไปในบทความอื่นๆ ของ เกรียนท่านนี้ เช่น ใน AREA แถ-ลง ฉบับที่ 151/2556: 25 ตุลาคม 2556 "ถ้าได้สร้างเขื่อนแม่วงก์เมื่อปี พ.ศ.2525 ป่านนี้คุ้มทุนไปแล้ว"
บทความนี้มีเนื้อหาอ้างเกี่ยวกับแม่วงก์เป็นป่าเสื่อมโทรมเช่นกัน โดยเขาอ้างอิงจากบทความที่ชำแหละไปข้างบน
ในตัวบทความ แถ ลง ฉบับที่ 151/2556: 25 ตุลาคม 2556 เองก็มีปัญหาทางวิชาการอย่างแรง เมื่อเขาใช้มูลค่าเงินปัจจุบันไปเทียบมูลค่าในอดีตตรงๆว่า เราจ่ายค่าสร้างเขื่อนแพงขึ้นเกือบ 7,000 ล้านบาท สำหรับคนที่เข้าใจวิชาเศรษฐศาสตร์ เราต้องรู้ว่าเงินในอดีตมีค่ามากกว่าปัจจุบันโดยเราต้องคิดจากอัตรา Discount ซึ่งด้วยอัตรา Discount ที่ 2.5% เป็นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาวของปัจจุบัน เมื่อปี 2525 ตามอัตราเงินฝากปัจจุบัน เงิน 3,761 ล้านบาท มันก็คือเงิน 7,888 ล้านบาท ณ ปี 2555 ซึ่งราคาเขื่อน ณ ปัจจุบันที่ 9,060 ล้านบาทก็คือเหมือนจะจ่ายแพงกว่า ที่ 1,171 ล้านบาท
แถมถ้าเราย้อนอดีตไปดู เราจะพบว่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากปี 2525 คือ 12.5% สมมุติเราทำการ Discount ตามอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตลอดช่วง มูลค่าโครงการ 3,761 ล้านบาท ฝากธนาคารเฉยๆมันจะเป็นเงิน 24607 ล้านบาท นั่นหมายความว่า เรา ประหยัดงบประมาณลงไปได้เป็นเงิน 15,547 ล้านบาท ที่เราไม่ทะลึ่งทำโครงการลงไปเมื่อปี 2522
ส่วนมูลค่าโครงการ 13,500 ล้านบาทคือค่าเขื่อนบวกค่าเวนคืนบวกค่าใช้จ่ายเผื่อขาดเผื่อเหลือไปแล้ว ไม่ใช่ตัวเลขที่ใช้เทียบ
เกรียนท่านนี้ มีความภูมิใจมากว่าตน จบปริญญาเอกมา เป็น Doctor ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าได้มาได้ยังไง (บางทีแกอาจเก็บสแตมป์ 7-11 แลกมา) กรณีถ้าเราจะคิดหาค่าเสียโอกาส มันต้องคิดจากผลกำไรของโครงการที่เราจะได้ถ้าเราทำเขื่อนเมื่อปี 2525 ต่างหาก
- นิยามตรงนี้ ท่านผู้อ่านสามารถหาอ่านได้จากวิกิพีเดีย
- และแน่นอนเรายังสามารถอ่านได้จากอ้างอิงทื่อื่นๆ
การอ้างอิงที่ควรเป็นการบ่งชี้ที่มาที่ไปเพื่อยืนยัน กลับกลายเป็นอ้างอิงที่ใส่เข้ามาเฉยๆ แต่ไม่ได้มีไว้ให้อ่าน
และการอ้างอิงบทความที่ตัวเองเขียนมั่วขึ้นมา อันนี้ยิ่งแย่กว่า ด้วยวิธีการนี้ เราจะถึงกับสามารถยืนยันการมีอยู่ของมนุษย์ต่างดาวได้ด้วยการอ้างอิงจากบทความที่ด้นมั่วขึ้นมาเอง
พฤติกรรมการอ้างอิงมั่ว มีความคล้ายกับพฤติกรรมของ สัตว์บางประเภท ที่ปลอมแปลงตัวเองให้เข้ากับหมู่ Species อื่น เช่นกรณีของแมงมุม หลายชนิดที่วิวัฒนาการจนปลอมตัวเข้าไปอยู่กับมด หรือกรณีของสัตว์อย่างจิ้งหรีด และตั๊กแตน หลายชนิด ที่ปลอมตัวเป็นกิ่งก้าน และใบของต้นไม้ สำหรับกรณีบทความนี้ ที่ เป็นการปลอมแปลงตัวของอะไรบางอย่างไปสวมหนังนักวิชาการ ด้วยการปลอม อ้างอิง มันช่างคล้ายกับแมลงสาบยักษ์ในเรื่อง Mimic ยังไงยังงั้น
การปลอมอ้างอิง หรืออ้างอิงมั่ว ถือว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ในระดับที่มากกว่าการก๊อบลอกบทความ เพราะ การก๊อบลอกบทความ เป็นแค่การไม่ให้เครดิต แต่การปลอมอ้างอิง มันถึงกับจะเป็นการทำลายเครดิตกันได้ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น