หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

EM Ball



เป็นประเด็นใหญ่ของสังคมไทยอีกครั้งหลังจากกรณีเรือดันน้ำ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าประเทศเราตอนนี้อยู่ในวิกฤตมหาอุทกภัย และเพราะเรื่องนี้ เราก็ต้องทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อจะเอาประเทศให้รอด แม้แต่สิ่งที่ไม่มีผลการทดสอบยืนยัน ก็ยังถูกเอามาใช้เป็นการทดสอบในขณะใช้งาน สำหรับ EM Ball ที่มีประเด็นกันอยู่ตรงนี้ เรามาดูประเด็นในแง่ลบ ผ่านทรรศนะของ ดร. ธงชัย พรรณสวัสดิ์



สิ่งที่ ดร ธงชัย อธิบายคือขอบเขตการทำงานของ EM ซึ่ง ในสภาพที่เรากำลังนำใช้อยู่ เรากำลังนำใช้กับระบบเปิด น้ำไม่นิ่ง ปริมาณ BOD จำกัด ซึ่งการบำบัดด้วยจุลินทรีย์จะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลน้อย ตัว EM เองก็มีต้นทุนการผลิต มันไม่ฟรี และถ้าเทียบกับแนวทางจับแยกขยะที่ย่อยสลายได้ออกจากน้ำ หรือการป้องกันการทิ้งขยะลงน้ำ วิธีหลังจะแก้ปัญหาได้ตรงจุดกว่า ในระบบบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ ขั้นตอนแรกของการบำบัด ก็เป็นการแยกขยะ แยกสารแขวนลอยด้วยการกรองและการตกตะกอนก่อนจะนำไปสู่การบำบัดด้วยจุลินทรีย์”[1]” ซึ่งก็เหมือนกับกรณีน้ำเน่าที่เราเผชิญอยู่ เราควรเริ่มต้นที่การแยกคัด ตัก กวาด เอาของที่เน่าได้ออกจากน้ำก่อน ไม่ใช่ไปใส่จุลินทรีย์โดยหวังให้มันย่อยทั้งสารอินทรีย์ที่ละลายในน้ำ และของที่ยังแขวนลอยอยู่  

ถ้าจะแบ่งประเด็นปัญหา เรื่องโครงการใช้ EM บำบัดน้ำเสียในพื้ที่น้ำท่วมนี้ มีประเด็นปัญหา และข้อกังขาดังต่อไปนี้
  1. จุลินทรีย์เติบโตได้ไม่ดีในน้ำที่มีการไหลไม่มีที่ยึดเกาะ
  2. ความเสี่ยงในการเกิด Blooming น้ำเสียยิ่งกว่าเดิม
  3. ในแง่เศรษฐศาสตร์ความคุ้มทุน
1. ในแง่การเติบโตของจุลินทรีย์
การบำบัดน้ำเสียแบบ Aerobic หรือ Anaerobic มันก็คือการที่ทำให้น้ำเน่าในสภาวะควบคุม สภาวะของบ่อ Anaerobic เอาสัตว์ชนิดใดลงไปก็ตายหมด เพราะขาดออกซิเจน และเราก็ได้ก๊าซติดไฟออกมาเสียด้วย (H2S + CH4) ในบ่อ Aerobic ก็ต้องมีการควบคุมขนาด Flock ไว้ เพราะเชื้อจุลินทรีย์เติบโตได้ไม่ดีในสภาพที่ของไหลปั่นป่วน การเลี้ยงตะกอนเป็นแกนจับจุลินทรีย์จึงเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้จุลินทรีย์มีที่ยึดเกาะเพื่อแบ่งเซลล์เติบโต บางที่ก็ใช้เป็นวัสดุ Pack ให้จับ และบางทีก็มีใช้ร่วมทั้งระบบเลี้ยงตะกอน และวัสดุยึดจับ การระบายน้ำออกจากระบบ Aerobic ชนิดเลี้ยงตะกอน ก็ต้องมีการป้อนตะกอนย้อนกลับหรือกรองวัสดุ Pack ให้คงอยู่ในบ่อ ถ้าเป็นกรณีน้ำไหลเอื่อยๆ มันก็คือโยนไปก็ถูกน้ำพัดไป ไม่มีวัสดุเกาะ จุลินทรีย์โตไม่ได้ (หรือได้ก็ไม่ดี) อย่างเทียบง่ายๆ น้ำในบ่อที่มีการหมุนเวียน การเกิดตะไคร่จะน้อยกว่า ก็เพราะเรื่องการที่มันยึดเกาะกับพื้นผิวยากนี่ละครับ มันต้องมีอะไรให้ยึดเกาะนิ่งๆจึงจะเติบโตกันได้ดี สำหรับรูปแบบการบำบัดมาตรฐาน อ่านได้ที่ ”[2]” สำหรับบ่อเกรอะในบ้านเรา มันก็มีลักษณะไม่ต่างจากบ่อ Anaerobic แค่เป็นการย่อส่วน อ่านได้ที่ ”[3]”

2. ในแง่ของความเสี่ยงการเกิด Blooming
การ Blooming หรือการเติบโตอย่างรวดเร็วจนน้ำเน่าเสียเพิ่มมากขึ้น เรื่องของการเน่าของน้ำในลักษณะ Chain Reaction น้ำในแม่น้ำลำคลอง ปรกติจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่ และเมื่อ Dissolve Oxygen ลดลงถึงจุดหนึ่ง สิ่งมีชีวิตจะตาย เมื่อตายเริ่มเน่าก็เพิ่มโหลดเป็น BOD ต่อเนื่องไป พืชน้ำเมื่อตายก็เพิ่มเป็นโหลด BOD อีก ในสภาวะน้ำเริ่มจะเน่าเสีย สิ่งที่ต้องทำคือได้แก่ ลด ขยะ และเพิ่มการละลาย Oxygen ให้ จุลินทรีย์จัดการกับ BOD ส่วนเกินโดยที่สิ่งมีชีวิตยังไม่ตายลง ถ้าหากมันเริ่มมีการตายแบบ Chain Reaction เมื่อไรก็คือจบเกม และเราจะได้แม่น้ำที่ว่างเปล่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน

3. ในแง่เศรษฐศาสตร์ความคุ้มทุน
ราคาของ EM Ball อยู่ที่ 10 บาทต่อลูก ”[4]”

ในแง่สัดส่วนการใช้ การบำบัดน้ำเสีย และน้ำท่วมขัง นิ่งไม่ไหล เน่าเสีย อ้างข้อบ่งชี้การใช้คือ
ให้ใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ Effective Microorganisms: EM (GPO Megaklean Plus) อัตราส่วน 1 กรัมต่อน้ำเสีย 1,000 ลิตร โดยใช้ซ้ำได้ทุก 7 วัน หลังจากใช้ประมาณ 3 – 4 วัน กลิ่นจะลดลง สีน้ำจะเริ่มเปลี่ยนจากสีดำเป็นสีน้ำตาล และใสขึ้นตามลำดับ กรณีน้ำท่วมขัง นิ่งไม่ไหล และเน่าเสีย ให้ตรวจวัดหาค่าออกซิเจนละลายในน้ำ (Dissolved Oxygen: DO) ถ้าค่าออกซิเจนละลายในน้ำต่ำกว่า 3 มิลลิกรัมต่อลิตร ถือว่าน้ำท่วมขัง นิ่งไม่ไหล เป็นน้ำเน่าเสีย ควรใช้ จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ Effective Microorganisms: EM (GPO Megaklean Plus) ตามอัตราส่วนข้างต้น ”[5]”

ส่วนตัว EM Ball ที่ใช้อยู่นี้กำหนดใช้พื้นที่ 1 ตารางวาต่อลูก”[6]”

จากสมมุติฐานข้างต้น พื้นที่น้ำท่วม  10,000,000,000 ตารางเมตร ค่าใช้จ่ายตรงนี้คือ 2.5 บาทต่อลบม หรือ 25,000,000,000 บาท ถ้าจะเล่นกันแบบอีลุ่ยฉุ่ยแฉก ตีขลุมกันแบบไม่ดูพื้นที่ โดยไม่สามารถรับประกันคุณภาพการบำบัดได้ มันก็คงหาความคุ้มกันไม่ได้กันเลยทีเดียว และเรากำลังทำการบำบัด นันคือเราหวังผลการลดน้ำเสียอยู่ การจะอ้างทำโครงการโดยไม่มีขอบเขตการทำงาน มันไม่ได้ มันไม่ถูกต้อง มันเป็นสิ่งที่เสี่ยงต่อทั้ง การคอรัปชั่น และการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ถ้าเราจะทำโครงการโดยไม่มีกรอบรายละเอียดของการดำเนินการและการวัดผล

สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ผู้สนับสนุน EM ใช้อภิปรายว่า การปั้นหรือโยน EM มันดีกว่าไม่ทำอะไร หรือ มันสร้างความสามัคคี หรือ ถ้าจะไม่ให้ใช้ก็หาวิธีที่ใช้ได้มาก่อนสิ ซึ่ง สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เหตุผลที่ถูกต้อง การใช้เหตุผลข้างต้น เป็นการอ้างเจตนาดีโดยละเลยข้อเท็จจริงของการวัดผลการใช้งาน และการผลักภาระการพิสูจน์ของผู้โต้แย้ง การทำอะไรแบบไปตายเอาดาบหน้าสิ้นคิดนี้เป็นลักษณะของสังคมที่ส่งเสริมความงมงายไม่เชื่ออย่าลบหลู่ เราหวังผลในการบำบัด เราก็ต้องมีการวัดผลหรือเตรียมการวัดผล ที่เห็นกันอยู่ตรงนี้ มันแทบไม่ต่างอะไรเลยกับการบนบานศาลกล่าวเจ้าพ่อเจ้าแม่เจ้าป่าเจ้าเขา ที่ถ้าไม่ถูกก็คิดเสียว่าไม่มีบุญ ถ้าเกิดผล (ต่อให้เกิดจากอะไรก็ตาม) ก็มาคิดเสียก่อนว่ามันเกิดจาการบนบานศาลกล่าว การคิดเยี่ยงนี้ มันก็แค่ลัทธิการงมงายในวิทยาศาสตร์ ที่ไม่ต่างอะไรเลย กับความงมงายเลอะเทอะในทางศาสนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น