บทความนี้ ผมเขียนขึ้นมาจากประเด็นที่ถกเถียงในกระทู้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เวียดนาม ในห้องหว้ากอของพันทิป ซึ่งดราม่ากันนัว ไล่ไปไล่มา พาดพิงถึงเยอร์มันเป็นประเทศไร้นิวเคลียร์ก็ยังอยู่ได้ หรือพลังงานไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ถูกกว่าดีกว่านิวเคลียร์ ตามกระทู้นี้ http://pantip.com/topic/30276679 ผมยอมรับว่ากระทู้ของพันทิปกระทู้นั้นฝ่ายที่แย้งนิวเคลียร์นั้นให้อ้างอิงมาดี และมันดีจนสามารถแกะย้อนไปหาต้นตอได้ว่าข้ออ้างของแต่ละอ้างอิงนั้นมีข้อผิดพลาด หรือตั้งสมมุติฐานแปลกๆกันอย่างไร
การใช้พลังงานนิวเคลียร์ของเยอร์มัน
เยอร์มัน มีแผนจะ Phase out การใช้พลังงานนิวเคลียร์ในปี 2022 หรืออีก 9 ปี นับจากนี้ มีการประเมินว่าการหยุดใช้พลังงานนิวเคลียร์ จำเป็นจะต้องมีการลงทุนประมาณ 340,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 10,200,000 ล้านบาท) ในตลอดช่วงเวลาดังกล่าว พลังงานนิวเคลียร์ คิดเป็นการใช้พลังงานทางไฟฟ้า คือ 23% [1] แต่ถ้าคิดในสภาพรวม การใช้พลังงานนิวเคลียร์ของเยอร์มันจะเป็นการใช้พลังงานคือ 8% ของทั้งประเทศ ในปี 2012 [2] โครงสร้างการใช้พลังงานของเยอร์มัน ตั้งแต่ปี 1990 ถึง 2012 แสดงตามกราฟด้านล่าง
ถ้ามองโดยโครงสร้างก็จะประมาณนี้
การปิดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จำนวน 8 แห่งในปี 2011 ทำให้มีการปล่อย CO2 มากขึ้น และมีผลต่อราคาค่าไฟฟ้าในเยอร์มันเป็นอย่างมาก ค่าไฟฟ้าของเยอร์มันถีบตัวขึ้นจากระดับ 0.238 EU/kWh ในปี 2010 มาที่ 0.26 EU/kWh ในปี 2012[3] ถ้าเรา Plot สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า ต่อราคาค่าไฟฟ้า ของประเทศต่างๆใน EU เราก็จะได้กราฟแบบนี้ [4]
ประเทศสีเขียวไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับกราฟข้างต้น ผมมีข้อสังเกตให้ว่า ผลกระทบของมูลค่าพลังงานดังกล่าวจากการติดตั้งโรงไฟฟ้าแบบ Photo-Voltaic นั้นค่อนข้างจะเลวร้ายทีเดียว ที่สำคัญ แม้ว่าภาพของเยอร์มันที่ขายออกมา เราจะมองเห็นการใช้โซล่าเซลล์ และพลังงานลม แต่พลังงานหมุนเวียนหลักจริงๆของเยอร์มัน นอกจากพลังงานน้ำแล้ว มันคือเชื้อเพลิงชีวมวล ที่เราเห็นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และลมเป็นจำนวนมากนั้น เป็นเฉพาะในภาคการผลิตไฟฟ้า เพียงเท่านั้น เชื้อเพลิงชีวมวลนั้น เป็นสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 30% ในการผลิตไฟฟ้า และ 70% ของการใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมดของเยอร์มัน [5] ไม่ใช่ตัว Photo-Voltaic หรือ โซล่าเซลล์ที่ถูกนำมาป่าวฆ้องว่าเป็นพลังงานแห่งอนาคต
มูลค่าของพลังงานทดแทนแบบต่างๆเปรียบเทียบกันแบบเรียงตัว
หนึ่งในข้ออ้างเรื่องราคาพลังงาน Solar Cell ที่มีข้อบ่งชี้ว่าราคาถูกกว่าพลังงานนิวเคลียร์ที่เป็นที่น่ากังขา ดังในงานศึกษา Solar and Nuclear Costs — The Historic Crossover Solar Energy is Now the Better Buy โดยการศึกษาของ John O. Blackburn Sam Cunningham เมื่อปี 2010
ในบทความข้างต้น มีประเด็นที่น่ากังขาคือการประเมินราคาต่อหน่วยของ Solar Cell ซึ่งตามรูป เทียบกับข้อมูลราคาและกำลังผลิตของ Solar Cell ซึ่งผมมีอยู่ในมือ ตามราคาปี 2007 และ ราคาปี 2012 ราคาช่วง 15 Cent ต่อหน่วยไฟฟ้า หรือ ต้นทุน 4.5 บาทต่อหน่วย ตามเส้น Cross over นั้น เป็นราคาที่อาจพอเป็นไปได้เฉพาะกรณีไฟฟ้าแบบ Ongrid ในสภาพอุดมคติ สำหรับราคา Solar Cell ตาม Quotation ที่มีอยู่ในมือ ราคา Off-grid ของปี 2012 จะอยู่ที่ 6.4 B/kWh หรือ 21 Cent/kWh ซึ่งมันก็ลดลงมาจากปี 2007 ที่ 10.2 B/kWh หรือ 34 Cent/kWh ราคาส่วนต่างที่สำคัญของระบบไฟฟ้าแบบ Offgrid คือราคาแบตเตอรี่ ซึ่งถ้าต้องการประจุไฟฟ้า 1.8 kWh เราก็ต้องใช้แบตเตอรี่ขนาด 150 amp-hr เป็นอย่างน้อย และถ้าต้องการ Safety factor ของวันมีแดด และวันไม่มีแดด ก็ควรสำรองไฟอย่างน้อย 2-3 วัน ซึ่งจะทำให้ราคาประเมินต่อหน่วยไฟฟ้าของโซล่าเซลล์สูงขึ้นไปอีก (9.2 B/kWh สำหรับราคาปี 2012) ซึ่ง ราคาข้างต้น เมื่อเทียบกับอ้างอิง [6] ก็จะเห็นว่า ราคา Minimum เป็นราคา On-Grid แบบอุดมคติ ราคา Maximum เป็นราคา Off-grid และเมื่อเทียบกับนิวเคลียร์ การ Cross over ของราคา ไม่ได้เกิดขึ้นจริง มันไม่สามารถเทียบได้กับ Biomass ที่ถูกใช้เป็นพลังงานหมุนเวียนตัวหลักของเยอร์มัน และมันน่าจะเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าของเยอร์มันมีราคาสูงถึง 0.27 EU/kWh
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับราคาของ โซล่าเซลล์ ณ ตอนนี้ ราคาของ Solar Cell ที่แข่งกันอยู่ในสหรัฐ นั้น อาจทำให้เข้าใจผิดว่าราคา แผงปัจจุบันตกลงไปกว่า 5000 บาทต่อตารางเมตร (65 Cent/W ที่ 16% efficiency) บทความต้นเรื่องที่โควตกราฟราคาดังกล่าว จริงๆแล้วกล่าวถึงการแข่งขันตัดราคาในสหรัฐที่รุนแรงจนแต่ละบริษัทติดตัวแดงเพื่อจะแย่งฐานลูกค้า บางเจ้าถึงขนาดใช้ซื้อแผงเก่าจากโครงการที่ล้มเลิกไปมาขายใหม่ มูลค่าราคาดังกล่าวนั้นไม่มีงบเหลือสำหรับการวิจัยใดๆทั้งสิ้นและเป็นการแข่งราคาที่ทำลาย product ของตัวเอง [7]
ตัวเลขการชดเชยภาครัฐ ประเด็นน่ากังขาของนิวเคลียร์ และโซล่าเซลล์
สิ่งที่เราต้องทราบคือ พลังงานทดแทนทุกชนิดจะได้รับ Cost subsidy เกือบทั้งหมด ขนาดของการอุดหนุนด้วยเงินภาษีของรัฐมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิดเชื้อเพลิง โดยข้อมูลจาก EIA เงินอุดหนุนของ Solar Cell จะอยู่ที่ 24C/kWh พลังงานลม 23C/kWh ถ่านหินสะอาด (Coal with carbon capture ตามตารางข้างล่าง) 30C/kWh โรงไฟฟ้าถ่านหินที่วไป 0.044C/kWh ก๊าซธรรมชาติ 0.025C/kWh ไฟฟ้าพลังน้ำ 0.067C/kWh และนิวเคลียร์ 0.16C/kWh[8]
ตัวเลขการสนับสนุนนี้ ในไทยก็ยังมีให้เห็น ได้แก่ การยกเว้นภาษีนำเข้าของชิ้นส่วนโซล่าเซลล์ การสนับสนุนเงินค่า Adder ขายไฟฟ้าเข้า Grid เป็นต้น ตัว Cost subsidy ของนิวเคลียร์ ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของการแบกรับความเสี่ยง หรือแม้จะใช้อ้างอิง ของ Union of Concern scientist ที่ต่อต้านนิวเคลียร์ และใช้วิธีนับค่าใช้จ่ายชดเชยกำไรโดยรัฐต่อเอกชนด้วยการละเว้นภาษีและรวมถึงการลงทุนโดยรัฐเองมาเป็นต้นทุน ค่าใช้จ่ายการ Subsidy ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็จะสูงสุดที่ 11C/kWh [ref:9 ตาราง 27 - 28]
สำหรับผู้ที่สนใจจะลองแกะอ้างอิงที่ 9 ผมแนะนำให้ดูเรื่องโครงสร้างพลังงานของรัฐ Texas ประกอบไปด้วยใน [10] เพื่อจะได้เห็นสัดส่วนการ Subsidy ที่มีในพลังงานลม และเชื้อเพลิงอื่นๆประกอบ
เมื่อคิดออกมาเป็นสภาพการแข่งขันทางการตลาดต่อราคาน้ำมัน นิวเคลียร์ก็ยังอยู่ในสเกลของการแข่งขันเชิงราคาต่อพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ แม้จะมีสัดส่วนต้นทุนค่าใช้จ่ายลงทุนเริ่มต้นมากขึ้น เพื่อความปลอดภัย แต่มันก็ยังเป็นส่วนที่เล็กน้อยอยู่เมื่อเทียบกับมูลค่าพลังงานสุดท้าย และแม้เมื่อจะรวมค่าใช้จ่ายการ Decommission แล้วก็ตาม
โดยสรุป
แม้จะเป็นข่าวโคมลอยที่ค่อนข้างโด่งดังในไทย แต่ประเทศเยอร์มันก็ยังใช้พลังงานนิวเคลียร์อยู่ และการเป็น Nuclear Free ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมหาศาล
ณ ปัจจุบัน ราคา โซล่าเซลล์ มีการลดลงจริง แต่มันก็ยังไม่เกิดสภาพ Break Even โดยเฉพาะเมื่อเทียบในฐานเดียวกัน (พลังงานหลัก – พลังงานหลัก) โซล่าเซลล์นั้น ในช่วงปี 2007 แม้แต่ราคา On-grid ของมันก็ยังแพงกว่าราคาไฟฟ้า แต่ ณ ตอนนี้ ราคา On-grid ของแผงโซล่าเซลล์ อยู่ในระดับที่ ลงมาใกล้เคียงราคาขายของไฟฟ้ามาก มันอาจพอคิดว่าคุ้มได้ ถ้าติดตั้งเอง ใช้เอง และมีไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเข้ามาเป็น Adder แต่ถ้าให้การไฟฟ้าเป็นผู้ลงทุน ถ้าไม่มีการบิดเบือนด้วยการ Subsidy มูลค่าพลังงานที่รวมกำไรการจัดการและค่าใช้จ่ายสายส่ง ก็น่าจะเห็นบิลค่าไฟฟ้าในระดับประมาณ 11-12 บาท (บวก Subsidy เข้าไปตามตัวเลข IEA)
ข้ออ้างการ Subsidy ของนิวเคลียร์ ณ ปัจจุบัน เมื่อแจงตัวเลขออกมา การ Subsidy ต่างๆนั้นน้อยมาก โดยส่วนใหญ่เป็นการแบกรับความเสี่ยงจากทางรัฐแทนเอกชน
โดยส่วนตัวของผู้เขียนบทความ พลังงานหมุนเวียนที่ประเทศเราควรมองไปข้างหน้า ไม่ใช่โซล่าเซลล์ แต่ควรจะเป็น พลังงานหมุนเวียนแบบชีวมวล และผมเชื่อว่า เรา ก็ยังคงควรจะนำนิวเคลียร์มาเป็นตัวเชื่อมต่อจนกว่าที่ตลาดชีวมวลของเราจะเติบโตพอ เพื่อที่จะพยุงเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปข้างหน้าได้ ไม่สะดุดขาล้มต่างชาติถอนทุนหนี (หรือแม้แต่นักธุรกิจไทยก็เหอะ) ด้วยสภาพค่าใช้จ่ายพลังงานแพงหูฉี่ครับ
อ้างอิง
[1] http://www.technologyreview.com/featuredstory/428145/the-great-german-energy-experiment/
[2] http://www.bmwi.de/BMWi/Redaktion/Binaer/Energiedaten/energiegewinnung-und-energieverbrauch2-primaerenergieverbrauch.xls
[3] http://epp.eurostat.ec.europa.eu/statistics_explained/index.php/Electricity_and_natural_gas_price_statistics
[4] http://econintersect.com/b2evolution/blog3.php/2011/12/21/the-dirty-truth-about-clean-energy
[5] http://www.erneuerbare-energien.de/en/topics/biomass/general-information/
[6] http://www.eia.gov/forecasts/aeo/electricity_generation.cfm
[7] http://www.renewableenergyworld.com/rea/news/article/2013/03/solar-pv-profits-last-stand
[8] http://en.wikipedia.org/wiki/Cost_of_electricity_by_source
[9] http://www.ucsusa.org/assets/documents/nuclear_power/nuclear_subsidies_report.pdf
[10] http://www.texastribune.org/texas-energy/electric-reliability-council-texas/why-texas-is-using-more-coal-wind-and-less-gas/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น