Review พลังงานสำรองของไทย งวดนี้ ก็อยากจะขอทำการเยาะเย้ย พลพรรคเพื่อไทยกับฝั่งเสื้อแดงที่สมัยรัฐบาลมาร์คไปไล่ล้อเค้าว่ารัฐบาลทำน้ำมันแพง พอตัวมาเป็นรัฐบาล ทำเรื่องยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน จนงามไส้ ต้นปี ก่อหนี้ไว้กว่า 2หมื่นล้าน เก็บเงินเข้าใหม่ตั้งนาน หนี้ก็ยังแตะระดับ 12,860 ล้านบาทที่เดือน เมษายน [1] เพราะ ก็น้ำมัน มันแพงจริงๆ การยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อการซื้อเสียง พอหมดโปรโมชั่น เราก็ต้องทยอยผ่อนเงินเข้าใช้หนี้ จน ตอนนี้ เราต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนน้ำมันแพงกว่ารัฐบาลไข่ถึง 2 บาท/ลิตร [2] กิ๊วๆ อย่างไรก็ตาม นับเป็นเรื่องเสียดายมากที่พอพลพรรค ปชป กลายเป็นฝ่ายแค้น เหล่าสาวกอดีตรัฐบวม ก็ถูก NGO หลอกให้เชื่อว่าจริงน้ำมันราคาถูก ปตท เป็นตัวทำน้ำมันแพง มาเย้วๆทวงปตทอยู่นี่ พวกหนูๆเสื้อแดงดูๆแล้วก็จำๆไว้นะครับ วันนี้เป็นฝั่งรัฐบาล งวดหน้าถ้าเกิดเป็นฝ่ายค้านก็อย่าให้ถูก NGO เขาเป่าหูได้อีกก็แล้วกัน ว่าแล้วก็ทนใช้หนี้กันไปตามสภาพนะครับพี่น้อง
นิทานเรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า There ain't no such thing as a free lunch[3]
รูปที่ 1: พลังงานสำรอง ของไทย จากการเก็บสถิติย้อนหลัง โดย DEDE[4]
ปริมาณพลังงานสำรองของไทยมีการเพิ่มขึ้นในช่วงต้นๆ เพราะมีการค้นพบ Reserve ใหม่ๆเพิ่มขึ้น ระยะเวลา Depletion ที่พลังงานไทยจะหมดก็เหมือนถูกต่อยอดออกไป จนช่วงหลังปี 2007 อัตราการเติบโตของการใช้งาน ก็พุ่งทะยานเกินอัตราการค้นพบ และจนถึงปัจจุบันนี้ ในปี 2011 ถ้าไม่มีการนำเข้าน้ำมันหรือการ Import พลังงานของไทยจะหมดลงภายใน 6.1 ปี ตัวเลขที่เห็นรัฐบอกว่าเป็น 10 ปีกว่าๆ นี่คือตัวเลขที่หักลบการ Import ไปแล้วนั่นเอง
การนำเข้าพลังงานของไทย
ประเทศไทยเรา มีการนำเข้าพลังงานครึ่งหนึ่ง ใช้งานอีกครึ่งหนึ่ง โดยรวม ก็คือ เราต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงเป็นจำนวนเทียบเท่า 115,000,000 ตันน้ำมันดิบ ต่อปี และก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
รูปที่ 2: สัดส่วนการนำเข้า และการผลิตพลังงาน ที่ใช้กันอยู่ในประเทศไทย
ในกราฟตามรูปที่ 2 จะเห็นการใช้คำว่า Primary Energy Consumption คำว่า Primary Energy ตรงนี้ มีความหมายว่าเป็นตัวเลขพลังงานในเชื้อเพลิงดิบที่นำเข้าก่อนการแปรรูป เราต้องเข้าใจว่า พลังงานมีการสูญเสียขณะแปรรูป เช่น ถ้าเราเผาน้ำมันเตา จำนวน 1 TOE (มีพลังงาน 42 GJ/TOE) ประสิทธิภาพของ Generator แบบ Combine Cycle มีอยู่ 70% พลังงานไฟฟ้าที่เราจะนำใช้ได้ก็จะมีเพียง 0.7 TOE หรือ 29.4 GJ เพียงเท่านั้น กับอีกส่วนหนึ่ง น้ำมัน หรือ ก๊าซ ที่นำเข้า ก็อาจถูกนำใช้ในกิจกรรมอื่นๆเช่นปิโตรเคมี ผลิตเป็นพลาสติก หรือกลายเป็น Solvent และอื่นๆได้อีกมาก ตามแผนภูมิด้านล่าง ตัวเลขในแผนภูมิจัดทำโดย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งจะมีข้อมูลรวมของพลังงานหมุนเวียนเข้าไปด้วยเป็นบางส่วน [5] สำหรับท่านที่คิดว่าประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกน้ำมัน อยากให้ดูตรงยอดรวมพลังงานที่มีอยู่ 143,690,000 TOE เราส่งออกคือ 12,842,000 TOE ซึ่งหวังว่า ข้อมูลตรงนี้ คงไม่มีความสับสนกันในหน่วย TOE (ตันน้ำมันดิบ) กับ BOE (บาร์เรลน้ำมันดิบ) ที่เป็นเหตุความสับสนให้มีผู้มาปั่นหัวว่าประเทศไทยมีพลังงานสำรองเหลือเฟือ
รูปที่ 3: โครงสร้างพลังงานประเทศไทย รวมทุกอย่าง ของปี 2555
ก๊าซธรรมชาติใช้ได้ 60 ปี วันนี้เหลือ ใช้ได้ 10 ปี??
เรากลับมาต่อกันเรื่องสัดส่วนการใช้พลังงานอีกนิด จากกราฟตามรูปที่ 2 เราใช้พลังงานครึ่งหนึ่ง นำเข้าอีกครึ่งหนึ่ง ตรงนี้คือในภาพรวม ในภาพย่อยที่น่าสนใจคือการใช้ก๊าซธรรมชาติ เราคงเคยได้ยินว่า ประเทศไทย มีก๊าซธรรมชาติใช้ได้ 60 ปี ตัวเลข 60 ปี มันหมายถึง ในปี 1990 ด้วยอัตราการใช้ของตอนนั้น มันจะใช้กันได้ถึง 60 ปี แต่ข้อเท็จจริงของวันนี้ การใช้ก๊าซธรรมชาติของเรา มีปริมาณเกือบ 10 เท่าของปี 1990 และ นั่นทำให้ ปริมาณก๊าซ จะหมดอ่าวไทยในช่วงปี 2023 ถ้าไม่สามารถค้นหาแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศเพิ่ม ปริมาณการจัดหาจัดซื้อก๊าซธรรมชาติ ตอนนี้เราพี่งพาจากพม่าเป็นหลัก และเราก็พยายามจัดซื้อ LNG เข้ามาทดแทนเพื่อลดการใช้ทรัพยากรของเราเองเพื่อชะลอวันน้ำมันหมดประเทศ แน่นอน การทำอย่างนั้น มันย่อมแพงกว่าผลิตเอง ณ ปัจจุบัน ราคาก๊าซธรรมชาติของโรงงานอุตสาหกรรม จะมีค่าใช้จ่ายที่ประมาณ 400 B/MBTU เทียบเป็นกิโลกรัมแบบ NGV นั่นจะอยู่ที่ประมาณ 14 บาทต่อกิโลกรัม แพงกว่าที่ภาคประชาชนใช้อยู่ 4 บาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่มีการชดเชยมาจากกองทุนซื้อเสียง เอ๊ย กองทุนน้ำมัน ณ ตอนนี้ ตัวเลขการใช้เชื้อเพลิงชนิดก๊าซธรรมชาติ เป็นการใช้จากของเราเอง 90% และเมื่อมีการเปลี่ยนสัดส่วน ถึงจุดหนึ่ง มูลค่าพลังงานจะต้องถูกกระทบ สำหรับราคาเปรียบเทียบของก๊าซธรรมชาติ ราคาของ อเมริกาจะเทียบที่ 120 B/MMBTU[6] ราคาของประเทศ EU จะอยู่ระหว่าง 470 – 1300 B/EU [7]
ผมไม่แน่ใจว่า คนอื่นจะรู้สึกอย่างไร เวลาที่เราอยากให้ค่าไฟฟ้าถูก ก็คือเราผลิตไฟฟ้าจากก๊าซให้มันเยอะขึ้น แต่ ค่าไฟฟ้าที่ถูกลง ก็จะสัมพันธ์กับปริมาณพลังงานสำรองที่ลดลงฮวบๆ ผมรู้สึกกังวลอย่างบอกไม่ถูกกับแนวคิดบริโภคนิยมในยุคปัจจุบัน
รูปที่ 4: สัดส่วนการนำเข้าและผลิตก๊าซธรรมชาติของไทย
การใช้พลังงานหมุนเวียน ในพลังงานในขั้นสุดท้ายของประเทศไทย
ทีนี้ ถ้าเราจะมาดูสัดส่วนการใช้พลังงานในขั้นสุดท้าย ซึ่ง ในปี 2555 เราได้มีการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายอยู่ที่ 73,316 kTOE ต่อปี เราจะพบว่า เราพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นสัดส่วนถึง 46% ซึ่งทำให้การลดลงของปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติเป็นไปอย่างฮวบๆ สิ่งที่น่าสนใจในกราฟนี้ คือสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน ประเทศไทย มีการใช้พลังงานหมุนเวียนรวมกันคือประมาณ 31% ในส่วนนี้ มีพลังงานหมุนเวียนรูปแบบดั้งเดิมอยู่ด้วย นั่นคือการใช้ฟืน ถ่าน วัสดุเหลือใช้ในการเกษตร ที่เรียกว่า Traditional Renewable เป็นจำนวน 16%
รูปที่ 5: สัดส่วนการใช้พลังงานของไทยในภาพรวม
ในกราฟข้างต้นอาจดูยุ่งยาก แต่ถ้าเราสรุปออกมาเป็นเฉพาะ พลังงานสิ้นเปลือง กับพลังงานหมุนเวียน เราพอจะสรุปออกมาได้ตามตารางนี้ โดยประมาณ
รูปที่ 6 สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน ในภาคไฟฟ้า และ ภาคความร้อน
สัดส่วนการใช้พลังงาน Renewable มันสำคัญอย่างไร จุดสำคัญก็คือ พลังงานหมุนเวียนจากชีวมวล ถ้าเป็นการจัดหาเพิ่ม ตรงนี้จะเป็นการลดการพึ่งพาพลังงานสิ้นเปลือง แต่ถ้าเป็นการเปลี่ยนจากการใช้แบบ Traditional Renewable มาเป็น Renewable นั่นเป็นแค่การเปลี่ยน Category การใช้พลังงาน และผู้ใช้เตาถ่าน ฟืน หรือวัสดุเหลือใช้เหล่านี้ ก็จะต้องมาใช้พลังงานในรูปแบบใหม่ แทนจะใช้เตาถ่าน ก็เปลี่ยนเป็นเตาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแทน ซึ่ง มันก็จะไม่ได้ช่วยอะไร ซึ่งประเทศไทย จะต้องมีการเพิ่ม Renewable Energy กินที่เข้าไปในการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ หรือ น้ำมัน ให้ได้ ไม่ใช่แค่การเปลี่ยน Category
แผนการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน ในการผลิตไฟฟ้า
ข้อมูลของ แผนพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติ [8] โดยสัดส่วน การใช้พลังงานหมุนเวียนมีเป้าจะขยายเพิ่ม 3% ใน 18 ปี ตัวเลขนี้จริงๆแล้วมิใช่น้อย แต่เพราะอัตราการเติบโตของการใช้พลังงานมีการขยายตัวกว่า 100% ตลอดช่วงเวลา 20 ปีในอนาคต ทำให้การเปลี่ยนสัดส่วนโครงสร้างการใช้พลังงานนั้น เป็นไปโดยยาก
รูปที่ 7: การขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในทุกภาคส่วนตลอดช่วง 20 ปีในอนาคต
ในโครงสร้างการใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานหมุนเวียนที่มีอัตราการขยายโดยสัดส่วนมากที่สุดคือพลังงานแสงอาทิตย์จากระบบ Photo Voltaic ซึ่งจะมีการขยายการผลิตถึง 28 เท่าตลอดช่วงปี 2554 – 2573 สำหรับระบบพลังงานชีวมวล จะมีการขยายกำลังผลิตที่ 3.5 เท่า
รูปที่ 8: การขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในส่วนพลังงานหมุนเวียนตลอดช่วง 20 ปีในอนาคต
กำลังการผลิตนี้ ไม่ใช่สัดส่วนเดียวกับพลังงานที่เราจะได้ เนื่องจากขนาดของ Capacity Factor ของพลังงานแต่ละชนิดนั้นไม่เท่ากัน พลังงานแสงอาทิตย์ ถ้าบ่งชี้ว่ามีกำลังการผลิต 1 kW พลังงานที่จะได้จริงตลอดช่วง 24 ชั่วโมง จะได้เพียง 4 kWh เป็นอย่างมาก พลังงานลม จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 20 – 40% ของขนาด Capacity ด้วยการแปรผันของความเร็วลมตลอดช่วงฤดูกาล ส่วนพลังงานน้ำและชีวมวลจะต่างออกไปเนื่องจากมีการ Reserve เชื้อเพลิงหรือต้นกำลังไว้ได้ และขนาดกำลังการผลิตจะแปรผันกับปริมาณพลังงานตรงกว่าขนาด Capacity ของโซล่าเซลล์ และพลังงานลม [9]
รูปที่ 9: Capacity index ของพลังงานหมุนเวียนแบบต่างๆ
เมื่อทำการปรับใช้ค่า Capacity Factor แล้ว จะพบว่า ในขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า ที่ขยายขึ้นกว่า 3.3 เท่า พลังงานหมุนเวียนที่นำใช้ได้มากขึ้น คือ 2.9 เท่า โดยส่วนพลังงานแสงอาทิตย์และลม จะเห็นว่ามีการขยายเป็นอันมากตาม MW แต่สัดส่วนเป็นพลังงานจะน้อยกว่ากำลังผลิตที่ยกไว้มาก ในทางกลับกัน ชีวมวลที่เห็นมีการเพิ่มกำลังผลิตน้อยกว่า พลังงานจากชีวมวล จะมีผลลัพธ์ปริมาณพลังงานสำรองที่มากขึ้นเป็นรูปธรรมมากกว่ากำลังการผลิตของ Solar Cell แต่กำลังผลิตไฟฟ้าจาก Solar Cell อาจนับเป็นตัวช่วยของการตัด Peak load ที่มักเกิดขึ้นในช่วงกลางวัน แต่สุดท้ายเราก็ยังมีปัญหาเชิงปริมาณอยู่ดี
รูปที่ 10: ปริมาณพลังงานหมุนเวียน ในระบบไฟฟ้าตลอดช่วง 20 ปีในอนาคต
โดยสรุป
จากการ Review ปริมาณพลังงานสำรองของประเทศไทย และขยายผลดูไปถึงพลังงานหมุนเวียนของไทยเรา จะเห็นได้ว่า พลังงานสำรองของไทย ยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน ยังไม่เป็นรูปธรรมอย่างเพียงพอ ถ้าเราคิดถึงข้อเท็จจริงที่ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย มีระยะเวลาที่สามารถ Support การใช้งานได้เพียง 10 – 30 ปี ตามอัตราใช้ปัจจุบัน การหมดของพลังงานจะเร็วกว่านั้นถ้าเรานำปัจจัยเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจมาคิดประกอบด้วย
ในขณะที่คนไทยเรายังเชื่อว่า สถานการณ์พลังงานของไทยเรา ยังมีตัวเลือกมากมาย ตัวเลือกที่ปรากฎ ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่จะทำได้ กลับมีข้อจำกัดอยู่มาก ในกรณีที่เราคิดจะแปลงสัดส่วนการใช้พลังงานของภาคการขนส่ง ไปเป็นการใช้จากพลังงานไฟฟ้า ขนาด Capacity ที่พึงรองรับของภาคไฟฟ้าเอง ก็ดูเหมือนจะไม่พอเพียงสักเท่าไร และทั้งๆที่ไม่เพียงพอ เราก็ยังถึงกับปรับลดสัดส่วนแผนการใช้พลังงานนิวเคลียร์ และพลังงานถ่านหินลงแบบหั่นครึ่ง ตามรูปที่ 7
ผมเชื่อว่า ด้วยข้อจำกัดในลักษณะดังกล่าว เราจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดการลงทุนในด้านการอนุรักษ์พลังงาน ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพประกอบไปด้วยกันเพื่อชดเชยการเติบโตของพลังงานทดแทนที่มีมาไม่ทัน และหวังว่า เราคนไทย จะได้เข้าใจถึงระดับความวิกฤติของพลังงานสำรองตามความเป็นจริง ไม่ใช่มโนเอาจากการเสี้ยมยุยงของกลุ่มคนไร้สติ
อ้างอิง
[1] http://www.efai.or.th/File/oilfund/2556/56_04_7.pdf
[2] http://www.democrat.or.th/th/news-activity/article/detail.php?ID=10722
[3] http://en.wikipedia.org/wiki/There_ain't_no_such_thing_as_a_free_lunch
[4] http://www.eppo.go.th/info/1summary_stat.htm
[2] http://www.democrat.or.th/th/news-activity/article/detail.php?ID=10722
[3] http://en.wikipedia.org/wiki/There_ain't_no_such_thing_as_a_free_lunch
[4] http://www.eppo.go.th/info/1summary_stat.htm
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น