หุ่นยนต์ยักษ์เป็นอนิเมชั่นและหนังมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ยุคจัมโบ้เอ มาชินก้า เก็ตเตอร์ อีเดี้ยน กาคีน จนมาถึงอีวานเกลี่ยน (เอ๊ะ เดี๋ยว ตัวหลังนี้ท่าจะไม่ใช่แฮะ) และจนมาเป็นหุ่นเยเกอร์ (Jaeger) จากหนัง Pacific rims ในเรื่องราวต่างๆก็มักจะมาบรรจบกันแถวศตวรรตที่ 21 ที่เราอยู่ตรงนี้ ซึ่งของพวกนี้ ก็ยังไม่เกิดขึ้นมาจริงๆสักที แน่นอน เราอาจตอบง่ายๆว่าเพราะอาวุธยุทโธปกรณ์ประเภทหุ่นยักษ์มันสู้ระบบมิสไซล์ไม่ได้ สู้เครื่องบินรบก็ไม่ได้ ฯลฯ ไม่คุ้มจะสร้าง ซึ่ง เราจะไม่พูดถึงเรื่องนี้ เรามาพูดกันว่า ถ้าเราจะสร้างมันซะอย่าง เราจะสร้างได้ไหม มันจะแอ๊คชั่นกันได้เพียงใด และ อะไร เป็นข้อจำกัดในการสร้างหุ่นยักษ์ขึ้นมาครองโลก
ความเป็นไปได้เชิงกล หุ่นยักษ์ ใหญ่ได้ขนาดไหน!?!?
ทุกความสูงที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว พื้นที่จะเพิ่มขึ้นยกกำลัง 2 และปริมาตร จะเพิ่มขึ้นยกกำลัง 3 ตามหลักของการ Scale up น้ำหนักที่โครงสร้างสิ่งมีชีวิตคาร์บอนอย่างพวกเรา ถูกค้ำยันภายในไว้ด้วยโครงกระดูก ถ้าเราพิจารณาจากขนาดของกระดูกของแมว กับเสือ ที่เป็นสัตว์ตระกูลเดียวกัน มีลักษณะของการเคลื่อนไหวคล้ายๆกัน กระดูกของเสือ จะมีมวลสูงกว่าของแมว และหนากว่า [1] ในกรณีของหุ่นยนต์ก็เช่นเดียวกัน จากหุ่นยนต์ Asimo ของ ฮอนด้า น้ำหนัก 54 กิโลกรัม สูง 130 เซนติเมตร ใช้โครงสร้างโพลิเมอร์เคลือบแมกนีเซียมอัลลอยด์[2][3] ถ้าใช้โครงสร้างเดียวกันในการสร้างกันดั้ม น้ำหนักของ RX-78 II สูง 18 เมตร จะอยู่ที่ประมาณ 143,000 กิโลกรัม และน่าจะหนักเกินจะเดินได้ ถ้าสร้างเป็นหุ่น Gipsy Danger สูง 76 เมตร จะมีน้ำหนักคือ 10,800,000 กิโลกรัม และโครงสร้างก็น่าจะพังทลายลงด้วยตัวเอง ณ วินาทีที่มันเริ่มเดินไปข้างหน้า
ลูบปลากรอบ 1: หุ่น Jeeg ฟิวชั่นกับ กาคีน ออกมาเป็น!!! Jipsy Danger!!!
ลูบปลากรอบ 2: ไอ้ตัวนี้ละ ที่อยากสร้างจริงๆ
อย่างไรก็ตาม เคยมีบทความจากเวบ Science Portal [4][5] ของ ญี่ปุ่น ที่ได้ศึกษาต้นทุนในการสร้างหุ่น กันดั้ม RX-78 II ซึ่งจะใช้โครงเป็น อลูมิเนียมเชื่อมแบบรังผึ้ง[6] เพื่อที่จะลดน้ำหนักโครงสร้าง และจะทำให้หุ่น RX-78 สามารถขับเคลื่อนเดินได้ โดยอาศัย Gas turbine 7 ตัว เครื่องคอมพิวเตอร์ Mainframe ราคาแสนถูกขนาด 1.5 ล้านเหรียญ มอเตอร์ 400 kW 30 ตัว แม้ว่ามันจะบินไม่ได้ คนขึ้นขับไม่ได้ และมีราคาถึง 700 ล้านเหรียญ แต่อย่างน้อยเราก็พอจะเดาได้ว่า หุ่นยนต์ขนาด กันดั้ม ยุคปัจจุบัน เราสามารถสร้างได้!!!!!
ลูบปลากรอบ 3: โครงสร้างแบบ Aluminium Honeycomb ถูกใช้ในการสร้างเครื่องบินเร็วเหนือเสียง และใช้สร้างสถานีอวกาศ
สำหรับวัสดุยุคใหม่ เรามีตัวเลือกมากกว่าโครงสร้างอลูมิเนียมแบบรังผึ้ง ปัจจุบันเรามีวัสดุโฟมโลหะ[7] ซึ่งมีความสามารถในการกระจายแรงดีกว่าโครงสร้างอลูมิเนียมแบบรังผึ้ง
ลูบปลากรอบ 4: โฟมโลหะ วัสดุยุคใหม่ที่อาจนำมาใช้ทดแทนวัสดุแบบ Aluminium Honeycomb สำหรับสถานีอวกาศ
ด้วยความเบาที่ใกล้เคียง บางที Lunar Titanium Alloy ก็อาจเป็น Alloy ลักษณะของโฟมไทเทเนี่ยมแบบ Close pore ก็เป็นได้ [8]
แต่ทั้งนี้ต่อให้ใช้ โฟมไทเทเนียม ก็ไม่คิดว่าจะสามารถใช้สร้างหุ่นยักษ์ระดับเยเกอร์ได้ เพราะ หุ่นเยเกอร์จาก Pacific Rims มันหนักเกินไปมาก ถ้าเปรียบเทียบแล้ว พื้นดินปรกติจะรับน้ำหนักได้ประมาณ 80 – 160 kPa สำหรับน้ำหนักของกันดั้ม ที่ 43ตัน ยืนเฉยๆมันจะมีแรงกดที่พื้นถึง 45 kPa และ หุ่น เจเกอร์ รุ่น Gipsy Danger ถ้าสร้างแบบกันดั้ม แรงกดที่พื้นมันจะสูงถึง 190 kPa และแม้แต่จะทำให้เบาเป็นไม้ก๊อก ด้วยน้ำหนัก 1850 กิโลกรัมตามเนื้อเรื่อง มันก็จะยังมีแรงกดถึง 109 kPa การเดิน หรือกระโดด มันก็คงไม่ต่างอะไรกับการตอกเสาเข็มดีๆนี่เอง
<-ลูบปลากรอบที่ 5: ภาพในจินตนาการเมื่อหุ่นยักษ์เริ่มวิ่งในเมือง
และตอนที่ผมลองคำนวณเทียบความเร็วของหมัดฮุค หมัดฮุคของคน มีแรงบิดที่ไหล่ประมาณ 400 นิวตันเมตร หมัดฮุคของกันดั้มตอนซัดกับชาร์จะมีแรงบิดที่ไหล่ประมาณ 20 ล้านนิวตันเมตร และหมัดฮุคของเยเกอร์ตอนต่อยกับไคจู ไหล่ของมันจะต้องรับแรงบิดที่ 2 ล้านล้านนิวตันเมตร (พร้อมกับความเร็วหมัดที่ มัค 1) สมมุติถ้าเราจะสร้างหุ่นยักษ์ขึ้นมาจริงๆ มันก็คงต้องมีการปรับรูปร่างขึ้นมาหลายนิดหลายหน่อย และยิ่งโตเท่าไร เราก็น่าจะได้หุ่นรูปร่างเข้าใกล้ ตึกธนาคารเอเซีย เอ๊ย ตึก UOB โรโบ มากขึ้น
ลูบปลากรอบ 6: UOB robo ขาใหญ่ๆยังงี้ละ สูง 80 เมตรไหว
จากข้างต้น เราจะพบว่า ปัญหาสำคัญของหุ่นยักษ์ที่หนักหนาสาหัสที่สุดคือน้ำหนักของตัวหุ่นเอง แม้แต่ถ้าเราจะสร้างหุ่นยักษ์ขนาดสักเท่ากันดั้ม ถ้าเราไม่สร้างขาแบบ UOB โรโบ้ เราก็ต้องไปลดน้ำหนักของวัสดุกันขนาดใหญ่ และต่อให้ทำได้ ถึงจุดหนึ่ง หุ่นยนต์ก็จะมีปัญหาเวลาเจอฝนตกลมพัด หุ่นอาจล้มคว่ำเตาปฏิกรณ์ระเบิดตายยกหมู่ เพราะเราเล่นสร้างหุ่นซะเบาหวิว เหมือนเอากล่องโฟมไปตั้งขวางพัดลมยังไงยังงั้น
แต่แล้วผมก็มาคิดนะว่า จริงๆแล้ว บางที ถ้าเราไม่ไปยึดติดกับไอ้การเดิน 2 ขาให้มันมากนัก ... หุ่นยนต์ยักษ์มันก็ไม่ได้สร้างยากมากมายอะไรนักเลยนี่หว่า
แล้วหลังจากนั้นเราค่อยมาว่ากันเรื่องการที่จะให้มนุษย์จะขึ้นไปบังคับหุ่นยักษ์ได้ เราอาจเอามนุษย์ยัดใส่ท่อที่บรรจุ LCL ปลั๊กเข้ากับหุ่นยักษ์เพื่อให้ของเหลวลดแรงกระแทก หรือบางที เราอาจจับมนุษย์มาดัดแปลงให้สามารถทนแรงกระแทกจากการตกลงจากตึก 4 ชั้นได้... . เอ เดี๋ยวก่อน ถ้าเราสร้างไอ้มนุษย์พรรค์ที่ว่าได้นี่เราคงไม่ต้องสร้างหุ่นยักษ์แล้วละนะ
ชักฝันมากไปแล้วแฮะ...ขอจบบทความแต่เพียงเท่านี้ครับ
อ้างอิง
อ่านสนุกมากครับ
ตอบลบ