จากบทความก่อนหน้านี้ ที่ผู้เขียนว่าถึง ความเป็นไปได้ในการสร้างหุ่นยนต์ยักษ์ รอบนี้ เรามาพูดถึงกรณีสัตว์ประหลาดยักษ์กันบ้าง สัตว์ประหลาดยักษ์ที่เป็นตัวเด่นสำคัญยืนยงข้ามยุคแน่นอนว่าไม่มีใครอื่น นอกจากก๊อดซิลล่า
Godzilla (ゴジラ Gojira?) ซึ่งมีสัณฐานเป็น เทอโรพอด (ไดโนเสาร์เดิน 2 ขา) ที่มีทรงขาแบบเสาตรง (เป็น Pillar เหมือน ซอโรพอด) ซึ่งก็อาจเป็นเพราะข้อจำกัดทางเทคนิคของหุ่นชุดยางสมัยโชวะ รูปทรงที่ดูละม้ายคล้ายภูเขาเดินได้นี้ เป็นต้นแบบพื้นฐานของ สัตว์ประหลาดยักษ์ (怪獣 kaijū) อย่าง เบมูล่า หรือ เรดคิง และรวมไปถึงสัตว์ประหลาดยักษ์อีกมากมาย จนกระทั่งในช่วงปี 1998 ที่ Centropolis Entertainment และ Tristar Pictures จับมือกันยกเครื่อง ก๊อดซิลล่า เสียใหม่ให้ดูเป็นสิ่งมีชีวิตกว่าเดิม ดูเป็นของจริงมากกว่า เดิม และถือเป็นทรงมาตรฐานของ สัตว์ประหลาดยักษ์ ในเรื่อง Pacific rims (ว่าแต่ มันจะเหมือนจริงๆหรือเปล่า) ซึ่งก็โชคดีของผู้เขียนที่ขณะอู้งานเขียนบทความเล่นนั้น ก็ได้ไปเจอกับ Journal ของ Per Christiansen ซึ่งเขียนบทความเปรียบเทียบเชิงกายวิภาคจากมุมมองของสัตววิทยาในหัวข้อ Godzilla from a Zoological Perspectiveบทความตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Mathematical Geology February 2000, Volume 32, Issue 2, pp 231-245 ซึ่ง ข้อเปรียบเทียบที่ออกมานั้นน่าคิดทีเดียวว่า สัตว์ประหลาดยักษ์ ที่ว่าเหมือนจริง สมจริง มันอาจไม่เหมือนอย่างที่พวกเราคิดๆกันเอาเองว่าสมจริงสักเท่าไร บทความนี้ จะเป็นงานแปลเสียส่วนใหญ่ ดังนั้นอ้างอิงนอก Journal นี้ก็คงมีเพียงเล็กน้อยละนะครับ
ประเมินมวลของ ก๊อดซิลล่า ด้วยการทำ Liquid Displacement
เพื่อที่จะทำการประเมินขนาด และภาระน้ำหนักของ ก๊อดซิลล่า ความสูง ทางคุณ Christiansen ก็ได้ไปหาโมเดลจำลองของ ก๊อดซิลล่า มาเพื่อหาปริมาตรด้วยการทำ Liquid displacement โมเดลนี้มีปัญหาเล็กน้อยเพราะมันกลวงโบ๋และมีรูให้น้ำเข้าไปท่วมวงจรเสียง Sound effect จึงต้องทำการอุดรูก่อนจำลองวัดปริมาตร โมเดล ก๊อดซิลล่า มีขนาดความสูง 20.4 ซม ยาวหัวจรดหาง 41.2 ซม และมีปริมาตร 263.5 มล จากที่ความถ่วงจำเพาะของสิ่งมีชีวิต จะมี ถพ ที่ 1000 กก/ลบม ไม่ห่างไปจากนี้มาก เพราะคนเกิดจากน้ำ เอ๊ย สิ่งมีชีวิตประกอบขึ้นจากน้ำเป็นส่วนใหญ่ เราย่อมสามารถประเมินน้ำหนักจากปริมาตรของสิ่งมีชีวิตได้ เมื่อเรารู้ว่า ปริมาตรแปรผันกำลัง 3 กับความกว้าง ยาว หรือ สูงความสูงของ ก๊อดซิลล่า นั้นไม่แน่ไม่นอน แล้วแต่ Prop กับมุมมองการถ่ายทำ บางที ก๊อดซิลล่า ก็สามารถมุดเข้าไปในชั้นใต้ดินของตึกได้ทั้งๆที่ขนาดจริงของชั้นนั้นมันแค่นิดเดียว (บางทีอาจเป็นปัญหาเรืองความอาร์ตของผู้กำกับ) แต่โดยทั่วไปก็จะเชื่อว่าสูงขนาดประมาณตึก 20 ชั้น ซึ่งถ้าคิดตามสเกลแล้วที่ความสูง 61 เมตร (จากความเห็นของ Orwall และ Goldberg แห่ง Wall Street Journal) น้ำหนักของ ก๊อดซิลล่า จะอยู่ที่ 7,058 ตัน และถ้ามีความสูงที่ 91.5 เมตร (ตามความเห็นของ Ebert แห่ง Chicago Sun-Times) น้ำหนักของมันจะอยู่ที่ 24,000 ตัน เนื่องจากขนาดแลน้ำหนัก ของ ก๊อดซิลล่า เปลี่ยนไปตามฉากชวนปวดตับนัก ดังนั้น น้ำหนักกับสเกลความสูงของ ก๊อดซิลล่า ก็จะให้ไว้ตามตารางข้างล่าง (แล้วแต่ว่าในตะละฉากมันจะอลังการ์ใหญ่โตกันไปถึงไหน)
ประเมินมวลของ ก๊อดซิลล่า ด้วยการเทียบสมการ Regression กับไดโนเสาร์ ที่เรารู้จักจากมุมมองของนักสัตววิทยาของ Christiansen น้ำหนักนี้ค่อนข้างจะถือว่าเบามาก เพราะ การเพิ่มของความสูงนั้น มักจะต้องการโครงสร้างกระดูก และลักษณะขาที่ทึบหนาขึ้นเพื่อรับน้ำหนัก Christiansen ได้นำข้อมูลน้ำหนักกับความยาวของไดโนเสาร์ มาพล็อตและทำออกมาเป็นสมการ Regression เพื่อยืนยันซ้ำอีกครั้ง
จากสมการ Regression ดังกล่าว จะทำนายว่า น้ำหนักของไดโนเสาร์ที่มีความยาว 123 เมตร จะมีน้ำหนักที่ 6478 ตัน แต่ทั้งนี้ ด้วยการที่ Error อยู่ในเลขยกกำลัง ความน่าจะเป็นของน้ำหนักไดโนเสาร์ ที่ความยาว 123 เมตร จะเป็นไปได้ตั้งแต่ 48 ตัน ไปจนถึง 860,000 ตัน และถ้าเราเทียบกับรูปทรงแล้ว ก๊อดซิลล่า มีทรงตามแบบไดโนเสาร์พันธุ์ Tyrannosaurus-X หรือ T-Rex ซึ่งมีน้ำหนักเบี่ยงจากสมการ Regression นี้ไปได้ถึงเท่าตัว มันจึงค่อนข้างมีความเป็นไปได้ว่า น้ำหนักตัวของ ก๊อดซิลล่า ตามการ Scale up นี้ แม้ค่าจากสมการจะใกล้เคียงกับน้ำหนักที่ Scale up ขึ้นมา แต่โดยทรงที่คล้าย T-Rex น้ำหนักมันอาจเบาเกินความเป็นจริงไปได้มาก จึงต้องมาตรวจสอบกันต่อ
ประเมินเทียบขนาดของกระดูกกับช่วงขา
ถ้าเราดูโครงสร้างของ ก๊อดซิลล่า เราพบเรื่องน่าสนใจคือรูปลักษณ์ของขาที่เพรียวยาว ซึ่งเหตุผลก็เพราะมันลอกแบบมาจากไดโนเสาร์เดิน 2 เท้าอย่าง T-Rex แต่มันจะเรียกว่าสมจริงแบบสมจริงหรือสมจริงเพราะเราเชื่อว่ามันเป็นอย่างนั้น เปรียบเทียบกับลักษณะของสัตว์ใหญ่ ก็มีแค่ช้างเท่านั้นที่มีขายาวเทียบกับน้ำหนักตัวของมัน โดยขาของช้างมีวิวัฒนาการออกมาเป็นทรงเสาเพื่อที่จะรับน้ำหนักได้ และที่สำคัญ ช้าง เป็นสัตว์ที่วิ่งไม่ได้ ทำได้แค่เดินเร็ว เพราะกระดูกขาไม่แข็งแรงพอจะรับน้ำหนักปะทะของการวิ่ง แล้วยิ่งถ้าเป็นสัตว์ประหลาดน้ำหนักเป็นพันๆตัน นี่มันไม่ใช่ร่างแอสทราลแบบไตตันนะ!!!
เนื่องจาก เราไม่สามารถหาตัวอย่างกระดูกของ ก๊อดซิลล่า ได้ เราจึงประเมินขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกระดูกโดยเทียบกับสเกลความยาว จากกราฟ ด้วยความยาวหัวจรดหางที่ 123 เมตร ความยาวขาของ ก๊อดซิลล่า ควรอยู่แค่ที่ 16 เมตร ซึ่งถ้าเรา Scale up จากโมเดลของเรา ขาชอง ก๊อดซิลล่า จะยาว 39 เมตร นับจากบั้นเอวลงไป นั่นก็แสดงว่า รูปทรงขาของ ก๊อดซิลล่า ยาว อย่างผิดปรกติเทียบกับขนาดตัวจากขนาดของกระดูกต้นขา ตามสเกล ก๊อดซิลล่า มีต้นขายาว 20 เมตร เมื่อเทียบกับค่าความสัมพันธ์ระหว่างกระดูกต้นขากับเส้นรอบวง ตามสมการด้านล่าง เราจะทำนายว่า เส้นรอบวงของเฉพาะกระดูกต้นขา ควรอยู่ที่ 11 เมตร ซึ่งบ่งชี้ว่า ทรงขาของ ก๊อดซิลล่า เพรียวเกินไป
และข้อสรุปตรงนี้ ว่าขนาดกระดูกมันต้องใหญ่เลอะเทอะแล้ว ข้อสรุปทางวิศวกรรม วัสดุกระดูกตันที่เส้นรอบวง 11 เมตร สามารถรับแรงกดได้ที่ 6.51GPa ถ้าเป็นกระดูกปรกติที่ต้องมีโพรงกระดูก ความสามารถรับแรงก็จะลดลงมาอีก ความสามารถรับแรงของกระดูกสัตว์ปัจจุบันขณะวิ่งจะอยู่ที่ 25-30 GPa (1 GPa จะเท่ากับแรงกด 10,000 เท่าของความดันบรรยากาศ) ถ้าวิ่งเหยาะๆก็ 15-20 GPa อย่างช้างและแรดที่ใช้การเดินเร็วก็จะอยู่ที่ 7-10 GPa เรียกว่า ต่อให้เป็นค่าเส้นรอบกระดูกตามทฤษฏีที่ใหญ่เลอะจนแทบไม่มีที่เหลือสำหรับกล้ามเนื้อ มันยังไม่สามารถรับแรงที่จะเดินเหยาะๆได้เลย อย่าว่าแต่น้ำหนักที่ลงไปที่เท้าของ ก๊อดซิลล่า ทรง T-Rex นี้ จะมีแรงกดเทียบเท่า 6 ความดันบรรยากาศ ซึ่งถ้า ก๊อดซิลล่า ยืนเฉยๆ เนื้อข้างใต้และบริเวณรอบๆก็อาจถูกกดจนเละเป็นแผลเนื้อตายได้
ดังนั้นสารพัด สัตว์ประหลาดยักษ์ ที่สร้างขึ้นมาโดยอาศัยต้นขาเพรียวๆแบบกิ้งก่า ถ้าโผล่พ้นน้ำขึ้นมา ก็คงขาหัก น้ำหนักกดทับตายเป็นปลาวาฬเกยตื้นละครับ
แล้วอย่างนี้ สัตว์ประหลาดยักษ์ที่สมจริงมันจะเป็นอย่างไร
โอเค จากอย่างโน้นและอย่างนี้ ถ้าหากสัตว์ประหลาดยักษ์ที่ขึ้นบกได้ และสูงเกินช่วงตึกเตี้ยๆ มันควรมีขาที่ใหญ่และตันเป็นทรงเสา เพื่อที่จะถ่ายน้ำหนักได้ และมีพื้นที่ภายในสำหรับกระดูกต้นขาขนาดใหญ่ยักษ์ โครงน้ำหนักส่วนบนควรน้อยหน่อยเพิ่มพื้นที่รับโหลดที่ช่วงล่าง ซึ่งจะว่าไปแล้ว ... ก๊อดซิลล่า แบบดั้งเดิมตั้งกะปีโชวะ มันสมจริงมาตั้งแต่แรกแล้ว
ส่วนในปี 2014 ก๊อดซิลล่า ที่จะลงโรง จากข่าวก็คือเป็นการ Reboot ก๊อดซิลล่า ของดั้งเดิมไม่ใช่อีกัวน่าอาบกัมมันตรังสี และตายง่ายๆด้วยขีปนาวุธแบบอเมริกาทำในปี 1998 แต่จะเป็นราชันย์ของเหล่า สัตว์ประหลาดยักษ์ ผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม ดูดกลืนกัมมันตรังสีเป็นพลังและพ่นลมหายใจปรมาณูได้ ตอนนี้จาก Concept art เท่าที่เห็น น่าจะดูสมจริงตามหลักกายภาพ มากกว่า สัตว์ประหลาดยักษ์ หุ่นสเลนเดอร์ พิมพ์นิยม ณ ปัจจุบัน
โดยสรุป
สัตว์ประหลาดที่สมจริงคือ เหมือนคนใส่ชุดยาง!?!? พระเจ้าจ๊อดช่วยด้วย นี่ผมยังไม่อยากเชื่อสิ่งที่ผมสรุปมาเองเลยด้วยซ้ำนะเนี่ย!!!! ใครก็ได้บอกผมทีว่ามันไม่จริงใช่ม้ายยยยยย อ่าห์ มันก็อาจเป็นเรื่องน่าแปลกใจว่าไอ้ของที่มันสมจริง มันก็ไม่ได้สมจริงเสมอไป ส่วนของที่ไม่สมจริง ในอีกมุมมองดันเหมือนจริงซะงั้น เคยมีการล้อเลียนในวงการหนังว่า ถ้าอยากถ่ายฉากเมืองจีนให้มาที่ไทย ส่วนถ้าอยากถ่ายไทย ให้ไปเวียดนาม อยากสัมภาษณ์นักวิทยาศาสตร์ ให้ไปสัมภาษณ์โหร อาจอง ชุมสาย เหล่า Stereotype ของ ของจริงที่สมจริงนะครับนะ
ลป นี่เป็นบทความที่ผมใช้เวลาเขี่ยนานมาก เพราะงานเข้าแล้วเข้าอีก แถมไอ้พวกสัตววิทยาอะไรนี่ผมไม่กระดิกเอาเลย จะคุ้นๆกับ Microbiology มากกว่า ขนาดบอกว่าแปลเอาเป็นส่วนใหญ่ยังต้องเปิดค้นกันกระจุยกระจาย ผมคิดว่า บทความรอบหน้านี่ ผมว่าจะเลือก Topic ง่ายๆ ไม่เอาไอ้ Topic เอามันส์อย่างนี้อีกแล้วละ เหนื่อย โฮก
อ้างอิง
[1] Per Christiansen “Godzilla from a Zoological Perspective” Mathematical Geology February 2000, Volume 32, Issue 2, pp 231-245
[2] http://en.wikipedia.org/wiki/Godzilla
[3] นิยามศัพท์ชีววิทยา กับทับศัพท์ไทย กดหาแหลกจาก wiki โลด ขี้เกียจ List มันเยอะ
คนทำเหนื่อย แต่อ่านสนุกดีมากครับ ขอบคุณครับ
ตอบลบ