หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

โรคมินามาตะ บทเรียนมลพิษ

สินแร่ ธาตุที่มีสมบัติใกล้เคียงกันมักอยู่กระจายผสมในสินแร่ที่มีสมบัติใกล้ๆกันสินแร่โลหะทองคำ ก็มักพบเจอร่วมกับตะกั่ว ปรอท เป็นปรกติ ซึ่งตัวปรอท เป็นโลหะอันตรายที่ก่อให้เกิดโรคมินามาตะที่เคยโด่งดังมาแล้ว 
---------------------------------------------------------------------

โรคมินามาตะได้ชื่อตามพื้นที่ๆมีการพบเจอ โดยในปี 1956 ได้พบโรคที่มีอาการป่วยประหลาด เด็กที่เกิดมา มีสภาวะพิกลพิการ และคนที่อยู่ในพื้นที่นั้น มีอาการชักสั่น ควบคุมการเคลื่อนไหวไม่ได้ วิกลจริต ซึ่งที่มาของโรคนั้น เกิดจากน้ำเสียของโรงงานผลิตสารเคมี Chisso ซึ่งผลิตสาร Acetaldehyde โดยมีการใช้ ปรอท ในรูปเกลือซัลเฟตเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา และผลของปฏิกิริยามีการเกิด methylmercury หลุดรอดออกไปในรูปน้ำเสีย

บริษัท Chisso
 



ประวัติศาสตร์ของปัญหาโรคมินามาตะ นั้นย้อนกลับไปได้ถึงปี 1908 เมื่อมีการก่อตั้ง บริษัท Chisso ซึ่งเป็นกลุ่มทุนใหญ่ในพื้นที่เทศบาลเมืองมินามาตะ โดยตอนแรก บริษัทได้รับการเชื้อเชิญอย่างดีจากชาวบ้าน โดยมุ่งหวังจะนำมาซึ่งความเจริญในท้องถิ่น บริษัท Chisso มีการจ้างงานชาวบ้านถึง 4000 คน เรียกได้ว่า คนที่อยู่ในเมืองนี้ ก็อยู่เป็นลูกจ้างของ Chisso นี่เอง  ในปี 1932 บริษัท Chisso ได้เริ่มการผลิตสาร Acetaldehyde ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของเคมีภัณฑ์หลายๆอย่าง และการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารปรอท ก็เริ่มนับแต่ตอนนั้น และหลังจากนั้น ถึงได้มีการพบความผิดปรกติของเด็กที่เกิดใหม่ และพวกนก แมว มีพฤติกรรมผิดปรกติ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ [1]

นายแพทย์ Hajime Hosokawa[2.1] ซึ่งทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลของ บ. Chisso ได้ศึกษาพบที่มาของปัญหาความพิการว่าเกิดจากสารปรอทที่โรงงานปล่อยออก และได้ทำการทดลองนำหอยที่อาศัยในบริเวณทางปล่อยน้ำเสียของบริษัทมาเลี้ยงแมว ภายใน 78 วัน แมว ก็มีอาการเหมือนผู้ป่วยโรคมินามาตะ การทดลองนี้ทำต่อหน้าผู้บริหารของบริษัท Chisso และผลที่ได้คือ นายแพทย์ Hosokawa ถูกปิดปาก และผลการศึกษาถูกปิดเงียบ สื่อชาวอเมริกัน W. Eugene Smith[2.2] ที่พยายามขุดคุ้ยเรื่องราวของโรคมินามาตะ ถูกทุบตี ทำร้าย จนพิการทางสายตา 

ด้วยเพราะ ตัวชาวเมืองจำนวนมากก็เป็นลูกจ้างของบริษัท อยู่ได้ด้วยเงินทุนของ Chisso นักการเมืองท้องถิ่น รวมถึงข้าราชการ ก็เป็นคนของ Chisso การต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมกับนายทุน เป็นเรื่องที่ยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง เมื่อ ชาวเมือง เป็นหนี้บุญคุณ ผู้ที่นำความตายมาสู่เมืองที่เขาอยู่

การทำลายของพิษปรอท

โลหะหนัก ในรูปสารประกอบอินทรีย์ สามารถดูดซับเข้าร่างกายได้ และโดยที่มันละลายในน้ำมันไม่ค่อยละลายในน้ำ พื้นที่ๆมันจะไปสะสม คือพื้นที่ก้อนไขมันที่สำคัญที่สุดของร่างกายมนุษย์ นั่นก็คือสมอง


เนื้อสมองที่เห็นมีร่องรอยพรุนแปลกๆคือส่วนเนื้อสมองที่ถูกทำลายไป

เมื่อแพทย์ชำแหละสมองของผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคมินามาตะ สมองของผู้ป่วยนั้น จะพรุนเหมือนฟองน้ำ ส่วนที่เนื้อสมองหายไป นั่นคือส่วนที่ถูกทำลายด้วยสารปรอท[3]

ผู้ที่ป่วยด้วยโรคมินามาตะ ก็คือผู้ที่ป่วยจากการที่สมองถูกทำลาย เมื่อมีอาการแล้ว ย่อมไม่มีทางจะรักษา เพียงแค่ประคองไว้ หรือไม่ก็ตายลงไป ปัจจุบัน เป็นเวลาเกือบ 60 ปีแล้วนับจากเหตุการณ์โรคมินามาตะ แต่ผู้ได้รับผลกระทบ ผู้ป่วยก็ยังคงมีอยู่ ที่รับเยอะ ก็ตายเร็ว ที่รับน้อย ก็ยังคงมีชีวิตอยู่พร้อมความพิกลพิการ และนี่เอง เป็นสิ่งที่ทำไม เหตุการณ์ปนเปื้อนของปรอทในเหมืองทอง ถึงจัดเป็นหายนะครั้งใหญ่ทางสิ่งแวดล้อม ผลกระทบของเหมืองทองนี้ เมื่อมันเกิดผลแล้ว การบำบัดรักษา ก็ยังอาจต้องมีต่อเนื่องไปอีกหลายสิบปี และพื้นที่นั้นแหล่งน้ำนั้น ก็อาจไม่สามารถนำใช้ได้อย่างปลอดภัย ไม่สามารถนำไปใช้ปลูกพืชผักทำอะไรได้ ไปอีกยาวนานหลายร้อยปี

สำหรับคนที่ใจแข็งพอ คุณสามารถกดดูวีดีโอ เพื่อดูว่า อาการวิกลจริต เมื่อเนื้อสมองถูกทำลายจนพรุนเป็นฟองน้ำ มีอาการอย่างไร


Biomagnification กลไกความอันตรายของโลหะหนัก

ในโลกนี้ ไม่มีใครกล้ากำหนดปริมาณการปนเปื้อนขั้นต่ำของปรอทในน้ำ แต่จะกำหนดที่ตัวอาหารที่เราบริโภค เพราะปรอท แม้จะเจือจางแค่ไหน ในระดับพันล้านส่วน ก็ยังเป็นอันตรายได้อยู่ดี


มลพิษโลหะหนักนั้น มีการสะสมผ่านการกินกันตามห่วงโซ่อาหาร

Biomagnification[4] คือปรากฏการณ์ที่ปริมาณสารพิษ เช่น ดีดีที ตะกั่ว หรือ ปรอท สามารถสะสมขึ้นได้ตามลำดับห่วงโซ่อาหาร แพลงค์ตอน อาจมีปริมาณปรอทใกล้เคียงกับแหล่งน้ำ แต่พวกกุ้งหรือแมลงน้ำที่บริโภคแพลงค์ตอน จะต้องบริโภคแพลงค์ตอนนับเป็นสิบๆเท่าของน้ำหนักตัวมันเองตลอดช่วงอายุขัย ปลาที่กินพวกกุ้งหรือแมลงน้ำก็ต้องบริโภคกุ้งหรือแมลงน้ำไปเป็นสิบๆเท่า ปลาใหญ่ที่กินปลาเล็กก็ต้องกินปลาเล็กนับเป็นสิบๆเท่าของน้ำหนักตัวมันเอง

จากความเข้มข้น แค่ระดับ 1 ในพันล้านส่วน ผ่าน แพลงค์ตอน แมลงน้ำ ปลาเล็ก ปลาใหญ่ 4 ลำดับนี้ ความเข้มข้นก็ทวีขึ้นเป็น 1 ใน ล้านส่วนได้ง่ายๆ และคนที่กินปลาใหญ่เป็นอาหาร แค่ 1 ปี ก็อาจมีปรอทสะสมได้ถึง 10 ppm แถมในชีวิตจริง ...จากแพลงก์ตอนจนถึงปลามันกินกันได้นับ 10 ทอด ในแหล่งน้ำ ระบบนิเวศน์ปิด อันตรายของโลหะหนัก ยิ่งทวีคูณ

ปลา และสัตว์น้ำที่จับขึ้นมาในแหล่งน้ำเหล่านั้น ตัวมันเอง ย่อมปรกติดี เพราะปริมาณที่สะสม ยังไม่ถึงขีดอันตราย หรือความผิดปรกตินั้นเล็กน้อยเกินกว่าที่จะสังเกต ชาวประมงที่มินามาตะ ก็บริโภคปลาและสัตว์น้ำที่แสนอุดมสมบูรณ์นั้น โดยไม่มีใครเฉลียวใจ เพราะดูยังไงก็เป็นสัตว์น้ำที่แข็งแรงสมบูรณ์ เพียงแค่ พอขึ้นมาอีกขั้นของห่วงโซ่อาหาร ในระดับของมนุษย์ ปริมาณปรอทที่สะสม มันมาเลยจุดที่ปลอดภัยเสียแล้ว

พื้นที่ๆมีการปนเปื้อนของปรอท ไม่ว่าจะถูกทิ้งลงจากโรงงาน หรือถูกขุดขึ้นมากับสินแร่แล้วล้างลงแหล่งน้ำ จึงถือว่า ไม่มีความปลอดภัยสำหรับมนุษย์ และสัตว์ ยิ่งแหล่งน้ำปิด อันตราย ยิ่งคงอยู่นานแสนนาน

ปรอทปนเปื้อน จะอยู่ได้นานแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับการถ่ายเทของสภาวะแวดล้อม

ในช่วงที่เลวร้าย สัตว์น้ำในอ่าวมินามาตะ มีปริมาณปรอทสูงถึงช่วง 10 ppm
เมื่อปี 1997 จากการตรวจสอบของเทศบาลเมืองคุมะโมโตะ ปริมาณสารปรอทในตัวอย่างปลามีปริมาณต่ำกว่าค่ากำหนดของญี่ปุ่นที่ 0.4 ppm และ ผู้ว่าราชการจังหวัดคุมะโมโตะก็ได้ประกาศว่าปลาในอ่าวมินามาตะ ปลอดภัยเพียงพอต่อการทำการประมง[5]

ที่ปริมาณสารปรอทนี้หายไป ไม่ใช่เรื่องบังเอิญรอธรรมชาติฟื้นตัว แต่มันมีการกั้นแหตลอดความยาว 1.3 ไมล์ และทำการกวาดสัตว์น้ำออกมาทำลายตั้งแต่ปี 1974[6] ถ้านับรวมตั้งแต่ที่ บริษัท Chisso หยุดปล่อยสารปรอทลงในน้ำ ตั้งแต่ปี 1960 การบำบัดอ่าวมินามาตะนี้ ใช้เวลารวมทั้งสิ้นคือ 37 ปี

กรณีของมินามาตะนี้ มีข้อสังเกตที่อยากให้ได้ลองคิดกัน มินามาตะ เป็นอ่าวที่เปิดสู่น่านน้ำข้างนอก มีการกวาดเอาสัตว์ที่มีปรอทตกค้างออกไปทำลาย มันยังใช้เวลาถึง 37 ปี กว่าที่ระดับสารปรอท จะต่ำอยู่ในระดับที่ทำการประมงได้ แล้วถ้าหากการปนเปื้อนนี้ อยู่ในแหล่งน้ำปิด เป็นแอ่ง เป็นห้วย เป็นหนอง... มันจะต้องใช้เวลาเท่าไรกว่าจะฟื้นฟูกลับมาเป็นของเดิม

มินามาตะ ในปัจจุบัน (ภาพจิ๊กมาจาก ดร. Hamasaki ม. โอซาก้า)

การต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากบริษัท Chisso แบบญี่ปุ่น[1]


ด้านซ้าย คือคุณ Kawamoto Teruo และด้านขวาคือคุณ Hamamoto Tsugunori

การต่อสู้กับบริษัทอย่าง Chisso เป็นการต่อสู้ชนิดยิบตา ททั้งภายในและภายนอกประเทศ แม้หลังจากที่เป็นที่รับทราบกันโดยทั่วแล้วว่าโรคมินามาตะเกิดจากกระบวนการผลิตของ Chisso แต่ Chisso ก็ยังละเลยการชดใช้ให้กับผู้ป่วยโรคมินามาตะที่ญี่ปุ่น ผู้ป่วยโรคมินามาตะไม่ใช่ผู้อ่อนแอ เขาเป็นนักสู้ที่สู้อย่างยิบตา ผู้ป่วยโรคมินามาตะได้รวมกลุ่มกันและลงขันเพื่อซื้อแชร์ของบริษัท Chisso และเข้าไปป่วนในงานประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี ในภาพ ผู้ประท้วงที่นั่งอยู่บนโต๊ะเผชิญหน้ากับผู้บริหารของบริษัท Chisso คือ คุณ Kawamoto Teruo เขาเป็นแกนนำของผู้เสียหายจากโรคมินามาตะ คุณ Teruo นี้ ต้องดิ้นรนสู้เพื่อจะได้ใบรับรองแพทย์พิสูจน์ว่าเขาเป็นผู้ป่วยโรคมินามาตะ และจัดตั้งกลุ่มพึ่งพาตัวเอง (Self Reliance Group) และเข้าเรียกร้องกับประธานของบริษัท Chisso โดยตรง โดยเขาถูกฟ้องดำเนินคดีตามกฏหมายมากมาย และใช้เวลากว่า 8 ปีที่จะสางคดีที่บริษัท Chisso ฟ้องร้องเขา และเขายังจัดตั้งแคมเปญทางการเมือง จนเข้าไปเป็นสมาชิกสภาเมืองมินามาตะ

สมาชิกอีกคนที่จะละเลยไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือคุณ Hamamoto Tsugunori ซึ่งนอกจากเคลื่อนไหวกับกลุ่มพึ่งพาตัวเองมาพร้อมกับคุณ Teruo หลังชัยชนะในการฟ้องร้องในปี 1973 เขาเป็นผู้ที่นำเรื่องราวของโรคมินามาตะนี้ไปเผยแพร่สู่โลกตะวันตก และได้จัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือ ระหว่างญี่ปุ่นและเอเซีย เขาได้เชิญทีมแพทย์และนักกฏหมายของอินโดนีเซียเข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาที่ญี่ปุ่นเพื่อไปปรับใช้ในการต่อสู้ในอินโดนีเซีย และเคยได้จัดสัมมนาทางวิชาการโดยมีนักสิ่งแวดล้อมจาก อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ มาเลเซีย และแคนนาดา เข้ามาร่วมซึ่งแต่ละที่ก็มีปัญหาการต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อม นั่นคือนอกจาก เขาจะสู้เพื่อความยุติธรรมของพวกเขา เขายังเผื่อแผ่ไปยังคนหมู่อื่น ประเทศอื่นที่ห่างไกล และได้ประสบชะตากรรมคล้ายกันกับพวกเขาอีกด้วย  

ในปัจจุบัน บริษัท Chisso ยังคงอยู่ รัฐบาลญี่ปุ่นไม่สามารถปล่อยให้บริษัทล้มได้เพราะมันมีภาระต้องชดใช้ค่าเสียหาย จำนวนผู้ป่วยโรคมินามาตะ จากชัยชนะในปี 1973 ซึ่งในช่วงนั้นมีผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันเพียง 684 คน จากผู้ขอการรับรองนับหมื่น ในปี 2009 มีผู้ได้รับรองความเป็นผู้เสียหายแล้วถึง 65,000 คน[7] และเรื่องราวทั้งหมด ก็ยังไม่จบจนถึงตอนนี้



สุดท้ายตรงนี้ ผมขอสรุปเรื่องราวที่อยากให้เป็นข้อคิดจากกระทู้นี้

  • ในกรณีพิพาทระหว่างชุมชน – สิ่งแวดล้อม และนายทุน ถ้าเราใช้ความคิดสร้างสรรค์ นอกจากการเดินขบวนปิดถนนประท้วง มันยังมีวิธีการ ไล่ซื้อหุ้นเข้าไปถล่มในกลุ่มทุน การรวมหัวกันเลือกตัวแทนเข้าไปเป็นนักการเมือง เป็น อบต ขึ้นมาสู้
  • คำว่าสิ่งแวดล้อม เมื่อถูกทำลายไปแล้ว ใช่ว่าแค่เงินจะเอามันคืนกลับมาได้ มันต้องใช้ทั้งเวลาและแรงงาน และบางครั้ง ถึงให้เวลาและแรงงานลงไป มันก็ยังไม่กลับมาเหมือนเดิม อย่างที่มินามาตะ วิถีชุมชน การประมง ถูกทำลายลงไปอย่างสิ้นเชิง
  • ผลกระทบต่อชีวิตคนนั้นมากและนานหนักหนา ผลกระทบที่เกิดขึ้นในมินามาตะ จนตอนนี้ผ่านมากว่า 60 ปีแล้ว ก็ยังมีผู้ป่วยโรคมินามาตะ จากความไร้จรรยาบรรณของ บ. Chisso อยู่ ผู้ป่วยสารปรอทสะสมในกรณีเหมืองทอง ก็จะเช่นกันนี้ การเรียกร้องค่าเสียหาย หรือจ่ายค่าชดเชย ไม่ว่าทางไหน ถ้าผลเกิดขึ้นแล้ว มันย่อมจะชดเชย หรือจ่ายกันเหมือนไม่มีวันหมดสิ้น
  • ประเทศไทยเรา ควบคุมมลพิษในลักษณะมาตรฐานความเข้มข้นค่าเดียว แต่สิ่งแวดล้อมนั้นไม่ได้ทำงานแบบนั้น บางพื้นที่ การถ่ายเทของลมดี น้ำดี มลพิษมากก็ไม่สะสมเป็นอันตราย บางพื้นที่ เป็นทะเลนิ่ง เป็นเวิ้งลมนิ่ง มลพิษที่ปล่อยแม้เข้มข้นน้อยๆก็ยังอันตรายได้มากครับ

---------------------------------------------------------------------
อ้างอิง
[1] http://japanfocus.org/-Tsurumi-Kazuko/4169/article.html
[2] https://en.wikipedia.org/wiki/Minamata_disease (section: 1959, Media)
[3] https://en.wikipedia.org/wiki/Mercury_poisoning#Mechanism
[4] https://en.wikipedia.org/wiki/Biomagnification
[5] http://www.nimd.go.jp/archives/english/tenji/e_corner/qa5/q2.html
[6] http://www.nytimes.com/1997/07/30/world/japan-calls-mercury-poisoned-bay-safe-now.html
[7] http://ajw.asahi.com/article/behind_news/social_affairs/AJ201304170076

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น