หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2554

วิกฤติสมดุลน้ำประเทศไทย - น้ำท่วม 2011

สถานการณ์น้ำท่วม ปี 2011


บทความนี้เป็นบทความเฉพาะกิจที่ผมไม่นึกว่าจะต้องมาเขียนเลย แต่ด้วยระดับคุณตะพาบของสังคมไทยที่ค่อนจะสุดยิด ปีที่แล้วน้ำเกือบขาดก็โกลาหลกันเรื่องภาวะโลกร้อน พอปีนี้กักเผื่อมากไปก็มาด่ากันเรื่อง รัฐบาลเก่าวางยาให้น้ำท่วม หนักข้อเข้าก็มีเรื่อง มีผู้ใช้พลังลึกลับปล่อยให้น้ำท่วมเล่น ดังนั้น เราก็ควรมาดูกันว่าอะไรเป็นอะไรกับการบริหารจัดการน้ำแห่งประเทศสารฃัณฑ์ ทำไม มันจะต้องพยายามรักษาระดับน้ำไว้ขนาดนั้นไม่ยอมรีบพร่องกัน

รูปที่ 1 ระดับน้ำเขื่อนภูมิพล

รูปที่ 1 เรามาดูที่เขื่อนภูมิพล เราจะสังเกตว่ากราฟมีเส้นต่ำกับเส้นสูงอยู่ ในปี 2010 ที่ผ่านมาเราเจอปัญหาภัยแล้ง หรือเรื่องฝนตกแต่ไม่ลงเขื่อนนั่นละ ผมเองก็เคยเขียนเป็นบทความไปแล้วเมื่อปีก่อน ระดับน้ำเก็บกักของต้นปี 2011 นี่เรียกว่าเสี่ยงจะขอดก้นเอามากๆ และมันก็ไม่น่าแปลกใจที่เราจะพยายามกักน้ำให้ใกล้ระดับเต็มไว้ เหมือน หรือคล้ายปี 2006 ทว่า บังเอิญ คราวนี้มันมากเกินกว่าปีก่อนๆไปเยอะ 

รูปที่ 2: ระดับน้ำเขื่อนสิริกิติ์


เรามาพิจารณาดูเขื่อนสิริกิติ์ในรูปที่ 2 เราก็จะพบปัญหาลักษณะคล้ายกัน ปี 2010 คอดก้นบ่อ และพยายามเก็บตุนของปี 2011 เพื่อปี 2012 จะได้ไม่ขาดน้ำ ทว่า งวดนี้น้ำมามากเกิน และมันไม่หยุด การระบายน้ำมีการระบายหนักๆคือเดือนกันยายน แน่ละ มันก็ไม่มีใครอยากพร่องน้ำลงมากไป เพราะปริมาณกักเก็บน้ำในเขื่อนของประเทศไทยเรา มีพอใช้แค่เกือบจะปีต่อปีเท่านั้น[1]

รูปที่ 3: ความสามารถในการกักเก็บน้ำของประเทศไทย

ในการแก้ปัญหาระดับประเทศ เราต้องยอมรับว่าปริมาณการกักเก็บน้ำของประเทศไทยเรานั้นไม่พอเหมาะกับการใช้งาน จากรูปที่ 3 ความจุของเขื่อนขนาดใหญ่ภายใต้ กฟผ มีอยู่ 42,842 ล้าน ลบม เมื่อรวมกับฝายขนาดกลางและขนาดเล็ก ปริมาณเก็บกักรวมก็คือ 51,801 ล้าน ลบม[2] ในขณะที่ การใช้น้ำของประเทศไทย เติบโตขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะจากภาคการเกษตร[3]

รูปที่ 4: ปริมาณการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นรายปีของไทย

ในแง่ของการใช้น้ำ ตามรูปที่ 4 จากตัวเลขที่แสดง จะเห็นได้ว่า การใช้น้ำของเรา เป็นการใช้น้ำที่เก็บกักแค่พอแล้งหนึ่ง แผนการใช้น้ำของประเทศไทย อยู่แค่ระดับปีต่อปี การพร่องน้ำจากเขื่อนของบ้านเรา เป็นการพนันว่า พร่องไปแล้วยังจะมีน้ำมาเติมได้ทันตอนท้ายฤดูฝน กล่าวแล้วก็รู้สึกอนาถใจตัวเองอยู่เหมือนกัน ประเทศนี้เราบริหารทรัพยากรกันด้วยไสยศาสตร์โดยแท้

ตัวเลือกของการแก้ปัญหา
รูปที่ 5 Cycle การเก็บกักน้ำในเขื่อนทั้งประเทศ

แน่นอนว่า สิ่งที่เราต้องการมีเพิ่มคือ เขื่อน ฝาย และอ่างสำหรับกักเก็บน้ำ สำหรับระดับน้ำในภาพรวมของประเทศ จากรูปที่ 5  ตอนนี้อยู่ในระดับเต็มปริมาตรใช้งาน และ เฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ในระดับ 75% ของความจุพิกัด ซึ่งก็แสดงว่า ปริมาตรกักเก็บสำหรับใช้งานไม่พอ และปริมาตรกักเก็บสำหรับบริหารเรื่อง อุทกภัย ก็ไม่พออีกเหมือนกัน

แต่ทั้งเขื่อน ฝาย และอ่างกักเก็บน้ำมันก็ยังอาจไม่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะเรื่องปริมาณน้ำท่านี้ มันมาจากฝน ซึ่ง คำว่าน้ำแล้ง น้ำมาก ส่วนใหญ่มันอยู่ที่ว่าฝนจะไปตกที่ไหน มากกว่าว่า ปีนั้น น้ำมาก หรือน้ำน้อยจริง ปริมาณการกักเก็บน้ำในประเทศเรา เป็นเพียง ร้อยละ 7 % ของปริมาณน้ำที่เข้ามาในประเทศของเรา [3] และการตั้งเป้าจะสร้างเขื่อน มันทำให้พื้นที่นำเก็บนั้นจำกัดวงลงไปมาก สิ่งที่จะทำให้พื้นที่สำหรับกักเก็บน้ำทำได้ง่ายขึ้นก็คือการสร้างระบบเครือข่ายการส่งน้ำระหว่างเขื่อน ตรงนี้จะทำให้เราสามารถนำส่งน้ำไปเก็บยังอ่างเก็บน้ำในพื้นที่แห้งแล้ง อย่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การที่จะมีตัวเลือกที่มากขึ้น น่าจะทำให้มีโอกาสที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำได้เยอะ มากกว่าแค่ในพื้นที่ลุ่มน้ำ

แนวคิดดังกล่าวนี้ ผมค้นย้อนหลังไปมีตั้งแต่ของรัฐบาลไทยรักไทยวางแนวคิดไว้ [4] รัฐบาลต่อๆมาก็มีสานต่อในชื่อ โครงข่ายบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการ [5][6] และทั้งๆที่มีการอนุมัติแผนในปี 2553 โครงข่ายนี้ก็ถูกต้านโดย มูลนิธิน้ำและคุณภาพชีวิตสรุปความคือ โครงข่ายควรเป็นแบบ Gravity Flow เท่านั้น ไม่ควรใช้ระบบท่อสูบส่ง [7] แต่ถ้าไม่มีท่อสูบส่งมันจะส่งน้ำขึ้นในพื้นที่สูงได้ยังไงก็ไม่ทราบเหมือนกัน นอกนั้นก็มีประเด็นเรื่องการทำ EIA และการใช้งบประมาณ  แบบระบบดูในรูปที่ 6 หรืออ่านเพิ่มเติมในอ้างอิง [5][6]

รูปที่ 6 ตัวอย่างระบบเครือข่ายน้ำที่ยังเป็นวุ้นอยู่

โดยสรุปรวบยอด ปัญหาระบบน้ำของไทยเรานั้นจำเป็นต้องมีการผนึกกำลังกันแก้ โครงการตรงนี้เป็นโครงการที่มีการดำเนินต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนาน แต่อาจด้วยปัญหาความไม่ต่อเนื่องของการบริหารมันจึงค่อนข้างจะลุ่มๆดอนๆกับอยู่ แถมประเทศไทยเราเล่นการเมืองเตะตัดขากันเองมาก [8] อะไรๆก็พยายามโยงไปเรื่องกีฬาสี เมื่อไม่มีเอกภาพระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้าน โครงการที่สมควรทำ จำเป็นต้องทำมันก็อาจจะลากยาวไปชั่วกาลนาน

ในส่วนนี้ ผมอยากวิงวอนให้พวกเราได้ช่วยกันผลักดันให้เกิดโครงข่ายชลประทานกันขึ้นมา อย่าได้นำเรื่องนี้ไปเอี่ยวกับกีฬาสีกันเลย แค่รบกับ NGO มันก็ยากพอตัวอยู่แล้ว

อ้างอิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น