หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554

พลังงานหมุนเวียน

พลังงานทดแทน เราก็มีการถกเถียงกันเอาเป็นเอาตายเรื่องพลังงานหมุนเวียน กับอีกกระแสหนึ่งคือพลังงานนิวเคลียร์ ในการถกเถียงนั้น ก็มีการใช้เหตุผลกันหลายอย่างดีบ้างวิบัติบ้าง ด้านของผู้สนับสนุนนิวเคลียร์ก็มีการอ้างไปถึงเหตุผลว่าพลังงานนิวเคลียร์ลดภาวะโลกร้อน ซึ่งก็มีเรื่องนี้ก็มีการทำออกมาเป็นโครงการ CDM กันจริงๆจังๆด้วย[1] และบางทีก็มีว่าพลังงานหมุนเวียนล้วนไม่เสถียรและไม่สามารถให้ปริมาณพลังงานที่เพียงพอได้ ในส่วนฝั่งที่สนับสนุนพลังงานหมุนเวียนก็มีการอ้างความไม่จำเป็น โดยมั่วเรื่องปริมาณพลังงานสำรองที่มีมหาศาลอันไม่รู้ว่ายกเมฆมาจากไหน  บ้างก็อ้างความกลัวยกมั่วไปถึงเรื่องของความปลอดภัย 100% และบางส่วนก็ว่าเราใช้พลังงานหมุนเวียนได้ทัน แน่นอน ซึ่งตัวเลขพลังงานสำรองที่ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานประเมินไว้ที่ 60 ปีนั้น[2] ถ้าแกะตัวเลขจริงๆ ถ้าเราไม่มีการนำเข้า มันก็หมดแค่ใน 7 ปี [3][4]

ในส่วนของบทความนี้ จะเป็นการ Review เรื่องของเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่เป็นไปได้ในประเทศไทย และเงื่อนไขของการมีพลังงานหมุนเวียน ผมหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เกิดความเข้าใจในข้อจำกัดต่างๆ ที่เราต้องเดินผ่านไปให้ถึงอนาคตของพวกเราเอง


รูปที่ 1 เมือง Olympus ใน Appleseed ที่อาจเรียกว่าเป็นโลกในอุดมคติซึ่งอารยธรรมกับชีวิตธรรมชาติผสมผสานเข้าด้วยกัน

พลังงานหมุนเวียน มีพอหรือไม่
พลังงานหมุนเวียนหมายถึงพลังงานที่เราสามารถนำใช้ได้เรื่อยๆเสมือนไม่มีวันหมด นั่นคือพลังงานที่มีแหล่งต้นมาจากดวงอาทิตย์ ซึ่งอาจนำใช้ได้โดยตรง เช่นกรณีของพลังงานแสงอาทิตย์ หรือใช้ผลทางอ้อมอย่างพลังงานลมหรือพลังงานคลื่น และยังมีการนำใช้ทางอ้อมอีกรูปแบบหนึ่งคือการใช้ชีวมวลที่ได้จากการที่พืชจับพลังงานจากดวงอาทิตย์ด้วยกระบวนการสังเคราะห์แสงและเก็บไว้ในรูปของเซลลูโลส
ในการตอบคำถามนี้ ผมอ้างข้อมูลพื้นฐานจากบทความเรื่องภาวะโลกร้อนภาคทฤษฏี[5]

พลังงานจากดวงอาทิตย์ที่ตกถึงพื้นโลกมีความเข้มของพลังงานที่ 1,323 W/m2 ที่ค่าสูงสุดของวัน และค่าเฉลี่ยตลอด 24 ชั่วโมงจะอยู่ที่ 248 W/m2 คิดเป็นพลังงานคือ 0.0214 กิกะจูลต่อวันต่อ ตารางเมตร การใช้พลังงานของประเทศไทยอยู่ที่ 12 ล้านกิกะจูลต่อวัน ในปี 2010 และต่อให้ขยายการใช้เป็น 2 เท่านั้นคือ 24 ล้านกิกะจูลต่อวัน ซึ่งนั่นก็คือเราต้องการพื้นที่เพียง 570 ล้านตารางเมตร หรือแค่ 3 แสนกว่าไร่เท่านั้น จากพื้นที่ 300 ล้านไร่ของประเทศไทย เรื่องพื้นที่ เรามีเหลือเฟือในแง่จะจัดมาใช้งานในส่วนนี้ และถึงแม้ ในกรณีที่เราคิดประสิทธิภาพการเก็บพลังงานนี้อาจต่ำเพียง 10% นั่นก็คือพื้นที่เพิ่มจาก 3 แสนไร่เป็น 3 ล้านไร่ ดังนั้นในแง่ของพื้นที่ประเทศกับกำลังการใช้ เรามีพื้นที่พอ และพื้นที่ไม่ใช่ข้อจำกัดของพลังงานหมุนเวียน

รูปที่ 2: แสงอาทิตย์ที่สาดส่องลงยังโลก

พลังงานแสงอาทิตย์แบบโซล่าเซลล์
จนถึงปัจจุบัน แม้โซล่าเซลล์จะถูกมองเป็นสัญลักษณ์ของพลังงานสะอาด แต่ตัวมันเองคือสิ่งที่ไม่คุ้มค่าที่สุดทางเศรษฐศาสตร์ ราคาในท้องตลาดของโซล่าเซลล์จากจีนประมาณ 20,000 บาทต่อตารางเมตร สามารถผลิตไฟฟ้าได้ที่ประสิทธิภาพ 10% โดยนำใช้ได้เพียง 4 ชั่วโมงต่อวัน ตลอดอายุ 20 ปี มันจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 3,813 kWh คิดเป็นราคาเฉลี่ย 5.18 บาทต่อหน่วย (ถ้ามันอายุถึง 20 ปี ละก็) ปรกติโซล่าเซลล์จะมีการเสื่อมสภาพของผิว จากที่ได้เคยสำรวจมา โซล่าเซลล์ที่ติดตั้งโดยหน่วยงานเร่งรัดพัฒนาชนบท โซล่าเซลล์ที่อายุ 15 ปี จะมีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าเหลือเพียง 10-20% ของพิกัด แถมด้วยการที่ ตัวโซล่าเซลล์ถ้าคิดราคาของตัวแปลงประจุ ร่วมกับแบตเตอรี่ (เปลี่ยนทุก 4 ปี) ราคาต่อหน่วยจริงๆของมันถ้าไม่ติดตั้งแบบ On-Grid มันจะอยู่ที่ใกล้ๆกับ 12 บาทต่อหน่วยมากกว่า

รูปที่ 3: อาคารออฟฟิตพลังงานแสงอาทิตย์ของจีน (ดู Design น่าจะเลียนแบบจากเมือง Olympus ของ Apple seed นะนั่น)

เศรษฐศาสตร์ของโซล่าเซลล์
แม้จะมีคนพูดถึงการพัฒนาประสิทธิภาพของโซล่าเซลล์ ในอนาคต แต่ถ้าดูจากกราฟ[6] เราจะพบว่า อย่างดี เราก็อาจต้องรออีกประมาณ 10 ปี ราคาของมันจึงจะประมาณเท่าราคาไฟฟ้าของวันนี้ (โดยที่เราพูดถึงการใช้งานแบบ On-Grid เท่านั้น) ถ้าเราจะพูดถึงการเก็บประจุไว้ใช้ด้วย เราอาจต้องรอจนกว่าเทคโนโลยีตัวเก็บประจุทำได้ถูกมากๆ หรือค่าพลังงานแพงมากๆ ซึ่งกรณีของประเทศไทยที่รัฐบาลเรามีนโยบายรักษาฐานเสียงก่อน อนาคตชาติทีหลัง (ซึ่งก็เป็นอย่างนี้มาตลอด) ผมเชื่อว่ากว่ารัฐบาลจะขึ้นค่าไฟฟ้าก็คงต้องรอเงินกองทุนน้ำมันหมดก่อน ซึ่ง มันก็สายเกินไป

รูปที่ 4: ราคาต่อ kWh ของ ระบบการผลิตไฟฟ้าด้วยโซล่าเซลล์

การเก็บพลังงานที่ได้จาก โซล่าเซลล์
เราจะไม่พูดถึงระบบโซล่าเซลล์แบบ On-grid ไว้ตรงนี้ เพราะเหตุผลคือเราจะถกกันเรื่องการใช้พลังงานทดแทนที่ 100% ดังนั้นการสะสมพลังงานไว้จำเป็นต้องมี การสะสมพลังงานไว้ในแบตเตอรี่เป็นสิ่งที่จะทำให้ราคาไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีราคาสูงมากๆ แต่ทั้งนี้แม้การเก็บพลังงานโดยประจุในแบตเตอรี่จะไม่คุ้มค่า สำหรับการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบโซล่าเซลล์ การเก็บสะสมพลังงานไว้ใช้ที่น่าสนใจได้แก่การใช้โซล่าเซลล์ในการปั๊มน้ำขึ้นเชื่อนเก็บไว้ในลักษณะพลังงานศักย์ เรียกว่าใช้งานร่วมกับระบบ Pump Storage [7] และเมื่อจะใช้งานก็ปล่อยน้ำลงมาแปลงเป็นพลังงานกลผลิตกระแสไฟฟ้า ระบบตรงนี้ทำให้การเก็บพลังงานด้วยระบบโซล่าเซลล์มีราคาถูกกว่าการใช้แบตเตอรี่มาก แต่โดยปริมาตรแล้ว น้ำปริมาตร 3.7 ลบม ที่เก็บที่สูง 100 เมตร จึงจะมีพลังงานศักย์เพียงพอใช้ผลิตไฟฟ้าได้ 1 kWh จะสำรองไฟให้บ้านใช้ 1 หลังเป็นเวลา 1 เดือน (ประมาณ 300 kWh) ก็ต้องใช้น้ำปริมาตรประมาณ 1 ล้านลบม เก็บที่สูง 100 เมตรเลยทีเดียว

รูปที่ 5: ระบบ Pump Storage ของ Raccoon City เอ๊ย Raccoon Mountain[8]

พลังงานแสงอาทิตย์แบบ Solar Thermal
Solar Thermal นั้นเป็นการนำความร้อนสัมผัสของแสงแดดไปใช้งาน ทั้งในรูปทางตรงและทางอ้อม เช่นใช้ต้มน้ำปั่น Turbine ผลิตกระแสไฟฟ้า ตัว Solar Thermal นั้น เทคโนโลยีที่ต้องใช้ต่ำกว่า Photo Voltaic มาก โดยข้อจำกัดของ Solar Thermal จะเป็น Economy of scale การลงทุน Solar Thermal จำเป็นต้องมีระบบที่ใหญ่ รูปแบบของ Solar Thermal ที่ใช้ในปัจจุบันได้มีแบบระบบ Parabolic ที่รวมศูนย์ความร้อนไปให้ความร้อนกับน้ำมันเพื่อใช้ต้มไอน้ำ ระบบแบบ Tower ที่รวมศูนย์ความร้อนไว้ที่หอความร้อน ระบบ Dish ที่พัฒนาขึ้นมาเล็กลง และยังสร้างความร้อนได้สูง ซึ่งก็จะให้ประสิทธิภาพเชิงพลังงานที่สูงกว่า[9]

รูปที่ 6: ระบบ Solar Thermal แบบ Parabolic ในหนังเรื่อง Gattaca



เศรษฐศาสตร์ของ Solar Thermal
ส่วนประกอบของ Solar Thermal นั้นแพงเพราะราคา Utility ที่ใช้ประกอบ สำหรับโรงไฟฟ้า Solar Thermal ขนาด 200 MW จะมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 10 C/kWh แต่อาจถูกกว่า 6 C/kWh ได้ถ้าขนาดของ Power Plant เกิน 10,000 MWh [10] โดยตรงนี้เราพูดแค่ในเทคโนโลยีปัจจุบัน ซึ่งแสดงว่าเราสามารถทำได้ถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซธรรมชาติแล้ว ติดอยู่แค่เรื่องขนาดของโครงการเท่านั้นเอง

รูปที่ 7: Economy of Scale ของระบบ Solar Thermal สำหรับกรณีที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับปรกติ

การเก็บพลังงานที่ได้จาก Solar Thermal
การเก็บพลังงานความร้อนจาก Solar Thermal เราไม่จำเป็นต้องแปลงไปเก็บในรูปแบบไฟฟ้า แต่เราสามารถจัดเก็บได้ในรูปความร้อนโดยใช้ Heat of Fusion ของเกลือหลอมเหลว ซึ่งสามารถออกแบบให้ปั๊มไปเก็บได้ในห้องฉนวนใต้ดินของโรงไฟฟ้าแบบ Solar Thermal [11] ทำให้ โรงไฟฟ้าแบบ Solar Thermal สามารถสำรองความร้อนไว้ผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางคืน และทำให้มันมีความเสถียรที่จะใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิสได้ดีพอสมควร แต่ทั้งนี้ ตัว Solar Thermal ก็ยังเก็บความร้อนไว้คุ้มได้แค่ประมาณ 1 – 2 วัน ซึ่งในประเทศเราที่มีวันครึ้มฟ้าครึ้มฝนได้หลายวัน ตัว Solar Thermal ก็คงนำใช้ได้ แต่ก็ต้องมีพลังงานหลักที่จะสำรองเผื่อไว้อยู่ดี
รูปที่ 8: แบบ Molten Salt Storage ของโรงไฟฟ้า Solar Thermal ของ California [12]

พลังงานจากลม
พลังงานลมเป็นพลังงานที่ทำให้คุ้มได้มาหลายสิบปีแล้ว และอาจเรียกว่าเป็นพลังงานจากแสงอาทิตย์รูปแบบแรกๆที่มนุษย์ชาตินำมาใช้งาน พลังงานลมมีรากฐานมาจากอุณหภูมิสัมผัสจากแสดงอาทิตย์บนพื้นที่ๆแตกต่างก่อความแตกต่างของความกดอากาศเป็นกระแสลม  มันก็คือการใช้พลังงานแสงอาทิตย์โดยทางอ้อมอย่างหนึ่ง และปริมาณพลังงานลมที่มีนำใช้ได้ก็จะจำกัดโดยพลังงานแสงอาทิตย์เช่นกัน แต่จะมีแง่มุมของสภาพภูมิประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

รูปที่ 9: Wind farm

เศรษฐศาสตร์ของ Wind Farm
พลังงานลมสามารถใช้งานคุ้มได้ในหลายพื้นที่ของโลกที่มีความเร็วลมที่สูงในระดับที่สม่ำเสมอ เหตุเพราะว่า ประสิทธิภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าจากลม ต้องการความเร็วลมขั้นต่ำอยู่ที่เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 4 เมตรต่อวินาที ซึ่งจากกราฟข้างล่าง จะเห็นว่าถ้าความเร็วลมเฉลี่ยสูงกว่า 4 เมตรต่อวินาทีขึ้นไป ด้วยราคาไฟฟ้า ณ ปัจจุบัน พลังงานไฟฟ้าที่จะได้ + กำไรก็ยังคุ้มค่าต่อการนำมาใช้

รูปที่ 10: ราคาต่อหน่วยไฟฟ้าที่ความเร็วลมเฉลี่ยต่างๆ อ้างอิงจากราคาและประสิทธิภาพกังหันลมที่มีอยู่ในมือ

เศรษฐศาสตร์ของ Wind Farm ในประเทศไทย
ประเทศไทยเรามีพื้นที่เล็กๆแค่ไม่กี่ที่ บริเวณที่เป็นหุบเขาที่จะมีลมพอจะปั่นไฟฟ้าได้ พลังงานลมแบบ Grid ขนาดใหญ่ ไม่เหมาะสำหรับประเทสไทย สำหรับกังหันลมที่ Speed ต่ำเช่นผลิตไฟฟ้าได้ที่ 3m/s ต้องระวังให้ดี การเปลี่ยนของทิศทางลมมันก็จะเสียโมเมนตัมไป ท้ายสุดก็ผลิตไฟฟ้าไม่ได้ ถ้าเป็นกังหันแบบแนวตั้ง ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องการเปลี่ยนทิศทางลม แต่ราคา มันก็จะกระโดดไปมากกว่า 2 เท่าของกังหันแบบแนวนอน

รูปที่ 11 แผนที่ศักยภาพพลังงานลม[13] นำมาเทียบกับประสิทธิภาพของกังหันลมขนาด 500 Watt 

พลังงานจากชีวมวล
สิ่งมีชีวิตบนโลกใช้ประโยชน์จากพืชเป็นแหล่งพลังงาน ซึ่งพืชสามารถกักเก็บพลังงานจากดวงอาทิตย์ได้ด้วยกลไกทางชีวภาพโดยเราแทบไม่ต้องใช้เทคโนโลยีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องเลย พลังงานจากชีวมวลเป็นพลังงานที่สามารถนำใช้ได้อย่างคุ้มค่าที่สุดด้วยกลไกที่ธรรมชาติให้ไว้ในสิ่งมีชีวิต แต่มันก็มักเป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามมากที่สุด ทั้งๆที่เทคโนโลยีที่จะใช้เปลี่ยนชีวมวลเป็นพลังงานมันก็คือ Boiler ธรรมดาๆที่ใช้กับเชื้อเพลิงฟอสซิสเท่านั้นเอง

รูปที่ 12 ผมจะหารูปที่เกี่ยวกับพลังงานชีวมวลในหนังกับในอนิเมนี่ยังหาไม่ได้เลย งั้นเอา Steam engine มาแปะแทนก็แล้วกัน

เศรษฐศาสตร์ของ พลังงานชีวมวล
 ในปัจจุบันเรามีการใช้พลังงานจากชีวมวลทั้งในระดับครัวเรือนเช่นการใช้ถ่านไม้ หรือในภาคขนส่งเช่นการใช้ Gasohol หรือ น้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งเป็นการแปรรูปชีวมวลให้เข้ากับระบบเครื่องจักร ณ ปัจจุบัน แถมผลิตผลเกษตรเหล่านี้ มีมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ในฐานะอาหารด้วย ราคาของมันจึงดูแพงกว่าที่ควรจะเป็น (ถ้าหากเรามาเริ่มต้นสร้างโครงสร้างทางเศรษฐกิจกันใหม่มันสามารถทำให้ถูกกว่านี้ได้ตามหลัก Economy of Scale) ในที่นี้ พลังงานชีวมวลที่ถูกที่สุดที่สามารถทำในระดับ Mass Production ก็คือการใช้พลังงานจากไม้ และการแปรรูปไม้ให้เป็นน้ำมัน ซึ่ง มันคุ้มค่าอยู่แล้วในปัจจุบัน

รูปที่ 13 เปรียบเทียบความคุ้มค่าเชิงพลังงานของเชื้อเพลิงชีวมวล (ไม้ และ Pyrolysis Oil) [14]

ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมของ ชีวมวล
ชีวมวลสามารถเก็บได้ด้วยการกองเก็บ หรือถ้าเป็น Pyrolysis Oil ก็เก็บเหมือนน้ำมันเตาซึ่งมีความสะดวกเหมือนเชื้อเพลิงฟอสซิล แม้แต่ปัญหาของการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลก็ยังเหมือนเชื้อเพลิงฟอสซิล คือมันต้องมีระบบบำบัดที่ดี โรงไฟฟ้าที่ใช้ชีวมวลได้ก็ย่อมจะใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ ดูได้จาก Spec ใน ref [15] เพราะเชื้อเพลิงชีวมวลอย่าง Wood Chip ก็จะมีสมบัติใกล้เคียง (หรือเลวกว่า) ลิกไนต์ซึ่งเป็นถ่านหินชั้นเลว ปัญหาของโรงไฟฟ้าแม่เมาะก็เป็นปัญหามาจากการล้มเหลวของระบบบำบัด ร่วมกับปัญหาการทำ EIA ไม่ได้ศึกษาไปถึงสภาพภูมิประเทศที่ทำให้เกิดสภาพอากาศปิดได้ง่าย [16]  และตราบที่ยังไม่อาจมีความมั่นใจในหน่วยงานของรัฐ (หรือเอกชน) ที่ดำเนินการโรงไฟฟ้าชีวมวล ไม่มีการจัดพื้นที่ Zoning การเกษตรอื่นๆและชุมชนอื่นๆออกจากพื้นที่โรงไฟฟ้าชีวมวล มันก็จะมีความเสี่ยงในการเกิดปัญหามลพิษ และปัญหาทางสุขภาวะของคนในพื้นที่ได้อยู่นั่นเอง

รูปที่ 14 โรงไฟฟ้าแบบ Coal fire ซึ่งก็เป็นรูปแบบเดียวกับโรงไฟฟ้าชีวมวล

โดยสรุป
จากที่ได้จัดทำ Review เทคโนโลยีพลังงานทดแทนออกมา น่าจะให้ความกระจ่างได้ว่า ในอนาคต เมื่อเชื้อเพลิงฟอสซิลหมดไป เรายังสามารถใช้พลังงานทดแทนได้ โดยเฉพาะในส่วนของพลังงานชีวมวล เราไม่ได้มีข้อจำกัดว่าจะต้องใช้แต่ Solar Cell หรือ ทำ Wind Farm และสามารถทำได้ในราคาที่ถูกพอและปริมาณที่มากพอจะทดแทนการใช้งานได้ทั้งประเทศ

แต่ทั้งนี้ ปัญหาจริงๆของพลังงานทดแทนจะอยู่ที่เงื่อนไขเวลาที่ใช้ในการพัฒนา จากเริ่มแรก เราควรต้องรู้แล้วว่า โซล่าเซลล์ และพลังงานลม ไม่ใช่พลังงานแห่งอนาคตของไทย พลังงานลมจะพอใช้ได้ก็จำกัด (คล้ายกับเงื่อนไขพลังงานน้ำเช่นกัน) การทำ Solar Thermal power plant ก็จะต้องใช้พื้นที่มาก และแม้จะสามารถกักเก็บพลังงานไว้ใช้ภายหลังได้ มันก็ยังไม่เสถียรพอจะใช้เป็นพลังงานหลักเหมือนชีวมวล มันอาจนำใช้ในลักษณะพลังงานเสริม

การจะจัดให้มีพลังงานชีวมวลที่เพียงพอ ยังต้องมีการจัดการทำ Zoning มีการจัดสร้างโรงไฟฟ้าและมีการพัฒนากระบวนการ Oleochemical [17] เพื่อจะมาทดแทน Petrochemical ที่เราคุ้นเคย มันคงไม่ใช่ระยะเวลาแค่ ปีหรือสองปี แต่มันอาจใช้เวลานับสิบปี ถ้าเริ่มจากปัจจุบัน การทำความเข้าใจกับชาวบ้าน การจัดทำ Zoning พื้นที่ ให้เร็วที่สุดก็ไม่ควรเร็วไปกว่า 5 ปี มิฉะนั้นถ้ามันเจอกับกรณีความผิดพลาดอย่างโรงไฟฟ้าแม่เมาะ มันก็จะแท้งไปอีกยาว การรวบรวมจัดทำงบประมาณเพื่อปลูกป่าเศรษฐกิจโดยมีผลกระทบกับป่าถาวรให้น้อยที่สุดก็ต้องใช้เวลา การจัดเตรียมแหล่งน้ำก็ต้องใช้เวลา มันไม่ใช่ระบบที่สามารถทำเสร็จ Compact ในตัวเองเหมือนพลังงานนิวเคลียร์

ผมเอง อยากจะเชื่อว่า ถ้าประเทศเราเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน ไปสู่จุดหมายของป่าเศรษฐกิจสำหรับเชื้อเพลิงชีวมวล เราอาจไม่ต้องพึ่งพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ในระหว่างที่เรากำลังค่อยๆปรับสร้างพลังงานทดแทนขึ้นมา แต่ ตามข้อเท็จจริง มันไม่ใช่อะไรที่ง่าย และเร็วขนาดนั้น

สุดท้ายนี้ สิ่งที่ผมหวังเป็นอย่างยิ่ง ผมอยากให้ทุกท่านที่กลัวพลังงานนิวเคลียร์ แทนที่จะต้าน เรามาช่วยกันสนับสนุนพลังงานทดแทนให้มันเกิดขึ้นจะดีกว่า การต้านพลังงานนิวเคลียร์ไม่ใช่การทำให้พลังงานทดแทนเกิดขึ้นได้ มีแต่การช่วยกันคิด ช่วยกันสร้าง ช่วยกันผลักดันไปยังพลังงานทดแทนเท่านั้น ที่จะทำให้ท้ายสุด เราสามารถก้าวช้ามช่องว่างที่แสนห่างไกลโดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์

อ้างอิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น