หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2557

วิทยาศาสตร์


หลายครั้ง ที่ผู้เขียนได้พบการกล่าวอ้างวิทยาศาสตร์โดยศาสนา ว่าศาสนาตนนั้น เป็นหรือเหนือกว่าวิทยาศาสตร์ โดยการอวดอ้างองค์ความรู้ว่ามีอยู่ในศาสนานั้นๆ แต่ที่เห็น อย่างดี ก็มีเพียงกระพี้ของวิทย์ ไร้ซึ่งแก่น เรามาเรียนรู้กันว่า วิทยาศาสตร์นั้น มันคืออะไรกัน

นิยามคำว่าวิทยาศาสตร์
จากนิยามของดิกชันนารี เวบสเตอร์ วิทยาศาสตร์ หมายถึงความรู้ของหลักการและเหตุผลที่มีการยืนยันข้อเท็จจริง อีกนัยหนึ่ง วิทยาศาสตร์ เป็นองค์ความรู้ที่ตั้งขึ้นจากการสะสมความรู้ โดยมีระบบและหลักสูตรพร้อมอ้างอิงถึงการค้นพบข้อเท็จจริง หรือกระบวนการทำงานของกฏพื้นฐานต่างๆ[1]

แม้ว่าโดยรากศัพท์ของคำว่าวิทยาศาสตร์ (Science) มาจากศัพท์ละติน Scientia ที่แปลว่า ความรู้[2] แต่ตั้งที่ช่วงคริสต์ศตวรรตที่ 14 มา คำว่าวิทยาศาสตร์นั้น จะมีนิยามประกอบเป็นความรู้ที่มาจากการประสบการณ์ และในช่วงคริสต์ศตวรรตที่ 17 คำว่าวิทยาศาสตร์ ก็เข้ารูปเข้าร่าง เป็นองค์ความรู้ที่แยกจากศิลปศาสตร์  จอห์น รัสกิ้น ได้เคยเขียนไว้ในปี 1872 ถึงลักษณะของศาสตร์ไว้ว่า
ในวิทยาศาสตร์ คุณไม่บอกก่อนคุณจะรู้ ในศิลปะคุณไม่พูดก่อนคุณจะทำ และในงานวรรณกรรมคุณไม่กล่าวก่อนคุณจะคิด[2]
องค์ประกอบของวิทยาศาสตร์

วิทยาศาสตร์นั้นประกอบขึ้นมาจากสองสิ่ง วิทยาศาสตร์ เป็น 1) ตัวองค์ความรู้ และ 2) เป็นกระบวนการในการค้นหาข้อเท็จจริง ทั้ง 2 สิ่งนี้ ตัวกระบวนการในการค้นหาข้อเท็จจริงนั้นเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด เพราะ ถ้าเรามีกระบวนการ เรายังสามารถสร้างและสะสมองค์ความรู้ขึ้นมาได้ แต่ถ้ามีแค่ความรู้แต่ไม่สงสัย ไม่ใฝ่หา ไม่มีเครื่องมือที่เรียกว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โลกของเราก็ย่อมจะหยุดนิ่งอย่างน่าเบื่อ เหมือนดังที่ไอน์สไตน์ ได้กล่าวไว้ว่า จินตนาการ สำคัญกว่าความรู้ โดยไอน์สไตน์ได้กล่าวอภิปรายไว้ต่อว่า เพราะ ความรู้นั้นจำกัด แต่จินตนาการนั้นโอบอุ้มทั้งโลก ซึ่งเป็นความรู้ที่เราอาจมีเพิ่มพูนมาได้ในอนาคต วิทยาศาสตร์นั้นจึงไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่[3]

คำว่าวิทยาศาสตร์ ที่นำไปประกอบในศาสตร์แขนงอื่นๆ เช่น รัฐศาสตร์ (Political Science) หรือ วิทยาการจัดการ (Management Science) คำว่า Science ที่นำไปประกอบนั้น คือการรับเอาหลัก กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไปประกอบ

กระบวนการทางวิทยาศาสตร์
กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จะประกอบด้วยการตั้งสมมุติฐาน ใช้เหตุผลแบบนิรนัย (deduction) ทำนายผลจากสมมุติฐานนั้น สังเกต ทำการทดลองสมมุติฐาน ใช้เหตุผลอุปนัย (induction) สรุปผลจากหลักฐานการทดลอง เพิ่อพิสูจน์ข้อจริงเท็จของสมมุติฐานที่ตั้ง[4] และ นำเสนอข้อเท็จจริงจากการทดลองออกมาโดยปราศจากอคติ เพื่อการตรวจสอบ จากกระบวนการข้างต้น มีข้อสังเกตที่เป็นลักษณะสำคัญของกระบวนการในทางวิทยาศาสตร์คือ
  1. Falsifiable: สมมุติฐานในทาง วิทยาศาสตร์ จะต้องพิสูจน์ความเป็นเท็จได้ เกณฑ์ความมั่นใจ จะต้องมีความชัดเจน
  2. Predictable: วิทยาศาสตร์นั้นต้องทำนายผลได้ การแค่อธิบายได้ หรือตอบได้ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์
  3. Repeatable: วิทยาศาสตร์นั้น จะต้องสามารถตรวจสอบทำซ้ำได้ โดยไม่จำกัดตัวผู้ทดลอง


ความไม่รู้
ความไม่รู้ เป็นความกลัวในเบื้องลึกทึ่สุดของมนุษย์ มนุษย์เราจึงมักต้องเฟ้นหาเอาคำตอบของศาสนามาอุดความไม่รู้เอาไว้ (และศาสนาส่วนใหญ่ของโลกก็ไม่ค่อยจะอยากให้ใครมาตรวจสอบคำตอบของศาสนาตนว่าถูกหรือไม่เสียด้วยสิ)

บิล นาย จากรายการโทรทัศน์ Bill Nye the Science Guy ได้เคยตอบคำถามจากศาสนิก “จิตใจ ตั้งอยู่บนสสารได้อย่างไร” ว่า “เขาไม่รู้ มันเป็นปริศนาที่ยิ่งใหญ่”  บิล นาย ได้กล่าวต่อว่า “สิ่งที่ผลักดันเราคือความสุขในการได้ค้นพบ การที่เราพบกับความไม่รู้ นั่นเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม เพราะมันจะมีความสุขที่จะได้ค้นพบความจริงรออยู่” สำหรับวิทยาศาสตร์แล้ว เราไม่ถือความ “ไม่รู้” เป็นสิ่งที่น่ากลัว เราไม่เอา “คำตอบ” สำเร็จรูปมาบดบังความไม่รู้ เรายอมรับมัน และเคร่งเครียดค้นหาอย่างสนุกสนานที่จะได้รู้ในสิ่งที่ไม่รู้นั้น

ปัจฉิมบท
ศาสตร์ใดๆ ที่อ้างไว้ว่ามีความเป็นวิทยาศาสตร์ สิ่งที่พึงแสดง ก็คือแสดงให้เห็นว่ามีการสอน หรือการใช้ในกระบวนการต่างๆเหล่านี้ ถ้ามันไม่มี ไม่ครบ วิทยาศาสตร์นั้น ย่อมหามีไม่ หาครบไม่ ในสิ่งที่ท่านทั้งหลายได้กล่าวอ้างว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์ และสิ่งที่กล่าวอ้างโดยไร้ความเป็นวิทยาศาสตร์นั้น มันก็ย่อมเป็นวิทยาศาสตร์เทียมอย่างแน่แท้
                                                                                                                                       
อ้างอิง
[4] https://explorable.com/definition-of-science

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น